นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงประเด็นข้อกังวลต่อการเตรียมกู้เงินของรัฐบาลที่อาจส่งผลต่อภาระหนี้และการบริหารจัดการในอนาคต โดยระบุว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงจัดทำนโยบายการคลังแบบขยายตัว (Fiscal expansionary policy) ผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนในปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ (Counter-cyclical fiscal policy) โดยมุ่งการลงทุนเพื่อการพัฒนา สร้างรายได้ และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มศักยภาพของภาคเอกชนในการลงทุนและการจ้างงาน ทั้งนี้ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จะต้องใช้เพื่อการลงทุนเท่านั้น ซึ่งการลงทุนที่ผ่านมาก็ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา ตัวอย่างโครงการลงทุนที่สำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่, โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า,โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งโครงการพัฒนาเชิงสังคมเช่น โครงการพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาด้านการศึกษา และพัฒนาด้านสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในเขตกรุงเทพฯและภูมิภาคทั่วประเทศ "นั่นหมายถึงว่าเงินกู้ทุกบาทของรัฐบาล ก่อให้เกิดรายได้กลับคืนมายังประเทศ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2557-2561 GDP และรายได้ของรัฐบาลมีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ" สำหรับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้มีกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยมีการกำหนดสัดส่วนทางการเงินการคลังต่างๆ เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ เพื่อเพิ่มวินัยในการชำระคืนต้นเงิน สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณที่เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Affordability) โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้กำหนดกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลางเพื่อกำกับติดตามและประเมินความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้เพิ่มเติมการวิเคราะห์สัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ (Interest payment/Revenue) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ธนาคารโลกได้แนะนำและใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีความสามารถในการชำระหนี้ทั้งในปัจจุบันและระยะปานกลาง นอกจากนั้นการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศ ยืนยันฐานะการคลังที่มั่นคงของไทยในปัจจุบันและความสามารถในการชำระหนี้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี สูงกว่ากลุ่มประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกัน และจากการประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว การลงทุนของรัฐบาลจะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจสะท้อนได้จากการเติบโตของ GDP การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น การขาดดุลงบประมาณที่ลดลงในอนาคต และระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ต่ำลงและไม่เกิน 50% รวมทั้งภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ