ราชบุรีเปิดงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ชาวไท – ยวน ณ บ้านสระโบสถ์ หมู่ 6 ต.คูบัว อ.เมือง ชาติพันธุ์แต่งกายเสื้อผ้าพื้นถิ่น จัดกิจกรรมกวนกาละแม เพลิดเพลินสนุกสนานกับหุ่นฟางยักษ์ และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของดี นั่งกินโตกกับอาหารพื้นถิ่นช่วงวันหยุด (25 ส.ค.62 )นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายรณภพ เวียงสิมมา นายอำเภอเมือง นายสุทธิรักษ์ หงสะมัต พัฒนาการจังหวัดราชบุรี พระครูใบฎีกาสุพจน์ ธีรวโส เจ้าอาวาสวัดโขลงสุวรณคีรี นายพจฐณศล ธนิกกุล นายองค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว ร่วมกับชุมชน เปิดท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ณ บ้านสระโบสถ์ หมู่ 6 ต.คูบัว อ.เมือง โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการจัดงาน กลุ่มสตรีอาสา พร้อมด้วยชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยเชื้อสายไท - ยวน ร่วมกันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นถิ่นร่วมกิจกรรมกันอย่างสวยงาม ทั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้กับชุมชน พัฒนาคุณภาพยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP นวัตวิถี เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางในการท่องเที่ยวให้มีความโดดเด่น มีความพร้อม บนอัตลักษณ์ของชุมชนท่องเที่ยว และเพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ ผู้เกี่ยวข้องในชุมชนให้มีขีดความสามารถในการคิดค้นเชิงสร้างสรรค์ นำมาต่อยอดการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเหมาะสม ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวคูบัว ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้าภูมิปัญญาในชุมชน ทำให้เกิดการกระจายรายได้ลงมาสู่ชุมชน ช่วยให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายในงานรองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เดินเยี่ยมชมร้านค้าภายในบริเวณวัดที่ตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมทั้งได้ปลูกต้นรวงผึ้งซึ่งเป็นต้นไม้มงคลให้แก่วัด จากนั้นได้ร่วมกวนกาละแม เยี่ยมซุ้ม ตกหลุมรัก สุดจัดปลัดบอก เป็นการหยอดขนมครกที่ทางวัดได้จัดเตรียมไว้ให้แก่นักท่องเที่ยวได้ทดลองสาธิตโม่แป้ง และหยอดขนมครก แคะขนมครกด้วยตนเองพร้อมนำกลับไปรับประทานก็ได้ สร้างความสนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยวที่พาครอบครัวบุตรหลานมาช่วยกันโม่แป้งแคะขนมครกรับประทานกัน นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังได้เพลิดเพลินไปกับหุ่นฟางยักษ์เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ทั้ง เสือ ช้าง กวาง ในรูปทรงท่าทางลีลาที่หลายคนชอบใจหยิบกล้องโทรศัพท์มือถือออกมาบันทึกภาพให้แก่ลูกหลานของตัวเองด้วยเสียงหัวเราะชอบใจที่ได้ลอดใต้ท้องช้าง วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน หรือจะถ่ายภาพกำแพงสามมิติไปกับลีลาการไถนาในสมัยโบราณที่เสมือนจริง พระครูใบฎีกาสุพจน์ ธีรวโส เจ้าอาวาสวัดโขลงสุวรณคีรี เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาชุมชนได้เล็งเห็นว่า ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านสระโบสถ์ มีศักยภาพเพียงพอ จึงได้จัดสรรงบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ ให้นักท่องเที่ยวต่างจังหวัดได้ทราบถึงแหล่งท่องเที่ยวตรงนี้ วัดจึงได้แบ่งพื้นที่ด้านหลัง มีการนำหุ่นฟางยักษ์มาตั้งวางสร้างเป็นวิถีชีวิตของชุมชนที่จะมาแสดงให้นักท่องเที่ยวได้พบเห็น เป็นวิถีของชาวไท - ยวน กวนกาละแม เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดแก่ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง โดยเฉพาะกาละแมที่กวน ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะช่วยเหลือชุมชน โดยรายได้จากจำหน่ายกาละแม จะนำไปช่วยเหลือผู้สูงอายุในตำบลคูบัว เป็นโครงการที่ชุมชนคิดริเริ่มทำและได้มาขอใช้สถานที่วัดดำเนินโครงการ ถือเป็นการสงเคราะห์ผู้สูงวัย โดยจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ส่วนวันอาทิตย์จะมีไฮไลท์ คือไท - ยวน กวนกาละแม นักท่องเที่ยวอยากจะช่วยอุดหนุนชุมชนหรือจะมาร่วมทำกิจกรรมที่วัดได้จัดขึ้นก็ได้ อยากให้มาแล้วจะรู้ อยู่แล้วจะรัก สำหรับจุดเด่น คือ มรดกทางวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาที่ใช้เวลาถึง 215 ปี ที่ไม่เคยลืมเลือนในเรื่องของการแต่งกาย เรื่องภาษาพูดของชาวไท - ยวน ที่จะเป็นจุดขายให้แก่นักท่องเที่ยวได้สนใจ อีกทั้งที่นี่ยังมีบรรยากาศคล้ายกับภาคเหนือ มาเที่ยวราชบุรีก็มีถิ่นคล้ายเมืองเหนือได้ไม่แพ้กัน ถือเป็นการขายอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เกิดความสนใจ นอกจากนี้ที่บริเวณเวทีการจัดงานยังมีการแสดงร่ายรำของเด็กเยาวชนลูกหลานชาวไทยเชื้อสายไท - ยวน ที่แต่งชุดผ้าซิ่นสีสันสดใส แสดงบนเวทีต้อนรับนักท่องเที่ยวที่นั่งกินโตก จากอาหารพื้นถิ่นของชาวไท - ยวน นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัดได้ทยอยเดินทางหลั่งไหลมานั่งกินโตก ที่ได้มีการโทรศัพท์สั่งจองไว้ล่วงหน้า ด้วยความชื่นชอบบรรยากาศสไตล์พื้นบ้านโบราณที่หาชมได้ยาก หลายคนก็เดินทอดน่องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือคูบัวที่ขึ้นชื่อจากฝีมือชาวบ้านมีให้เลือกหลายราคา ชิมผัดไทยโบราณใส่กระทงหัวปลี ที่หลายคนถึงกับต้องยืนต่อแถวรอยาว เพราะชื่นชอบในรสชาติแบบโบราณกินแล้วติดใจจึงซื้อกลับไปฝากคนที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีสินค้า อาหารหวาน คาว ขนมตาล ขนมฝักบัว อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ พืช ผัก ผลไม้ปลอดสารในท้องถิ่น ของใช้ ของที่ระลึก ที่น่าสนใจอีกมากมาย