เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เผยแพร่ข่าวประจำวันอาทิตย์ ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นประธานในการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ งานบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวาย เจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ ยุคที่ ๒ เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ เป็นปีที่ ๘๒ อีกทั้งอุทิศถวาย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เจ้าอาวาสยุคที่ ๔ พระราชอุปัธยาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสยุคที่ ๑, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (จินฺตากรเถร) เจ้าอาวาสยุคที่ ๕ และพระศาสนโศภน (ภาณกเถร) เจ้าอาวาสยุคที่ ๓ ด้วย การนี้ โปรดให้เชิญพระพุทธรูปประจำวันประสูติและประจำวันเกิด คู่กับพระสถูปพระอัฐิ และอัฐิ อดีตเจ้าอาวาสทุกยุคออกประดิษฐาน พระเปรียญถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ พระสงฆ์จตุรวรรคสวดคาถาธรรมบรรยาย พระสงฆ์ ๑๐ รูปสวดพระพุทธมนต์ รับพระราชทานฉัน พร้อมกับพระสงฆ์อีก ๒๕๐ รูปรับพระราชทานฉัน จากนั้น พระสงฆ์ ๕๐ รูปสวดมาติกา สดับปกรณ์พระอัฐิ-บังสุกุลอัฐิอดีตเจ้าอาวาสเจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประสูติเมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ (ต้นราชสกุลชมพูนุท) กับหม่อมปุ่น มีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าภุชงค์ ทรงศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นกับเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ ในรัชกาลที่ ๓ ผู้เป็นอัยยิกา แล้วเสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแรฟเฟิลส์ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้น พ.ศ.๒๔๒๒ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงพระฉายาว่า สิริวฑฺฒโนทรงศึกษาภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และพระปริยัติธรรมจนแตกฉาน ทรงพระปรีชาญาณพิเศษในทางรจนาหนังสือทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงพระนิพนธ์ตำราและหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก นิทานต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น พระนิพนธ์เหล่านี้ยังใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลี และการศึกษาพระพุทธศาสนาของพระภิกษุสามเณรมาจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และทรงริเริ่มให้จัดหลักสูตรธรรมศึกษา เป็นหลักสูตรการเรียนพระพุทธศาสนาสำหรับฆราวาส ควบคู่ไปกับหลักสูตรนักธรรมของบรรพชิต พระกรณียกิจพิเศษได้แก่ การเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช เมื่อเจ้าประคุณ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสยุคที่ ๑ สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ.๒๔๔๔ จึงได้ทรงเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา เป็นเจ้าอาวาสยุคที่ ๒ เจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงบริบูรณ์ด้วยพระศีลาจารวัตรเนกขัมมปฏิปทาไม่บกพร่อง มีพระอัธยาศัยเยือกเย็นสุภาพ ไม่เคยมีผู้ใดเคยเห็นพระอาการกริ้วโกรธหรือมีรับสั่งผรุสวาทรุนแรงแม้แต่ครั้งเดียว ทรงพระสุขุมคัมภีรภาพในการบริหารกิจการพระศาสนา ด้วยความมั่นคงในหลักการตามพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังทรงอุปการกิจสาธารณูปการไว้เป็นอันมาก เช่น ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธสืบต่อจากเจ้าอาวาสยุคที่ ๑, ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดมะขามใต้ (วัดชินวราราม) สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จังหวัดปทุมธานี, ทรงสร้างโรงเรียนวัดชินวราราม (เจริญผลวิทยาเวศม์) จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทรงงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนาและในพระอิสริยยศทางราชตระกูลตลอดมานับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ทรงพระราชศรัทธายิ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ เจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธ ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๐ สิริพระชนมายุ ๗๗ พรรษา