25 ส.ค. 2562 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทีมกฎหมายของพรรค เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มอบให้ตนไปฟังคำพิพากษาแทน เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ในคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6646-6647/2561ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการวางเพลิงเผาทรัพย์ช่วงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)โดยมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย โดยคดีดังกล่าวมีนางนุชทิพย์ บรรจงศิลป์ โจทก์ที่ 1, นายสิริเชษฐ์ สุขประสงค์ดี โจทก์ที่ 2 , นางมนัสนันท์ สุขประสงค์ดี โจทก์ที่ 3 และบริษัทยูแอลซี ซอฟแวร์ โจทก์ที่ 4 ฟ้องจำเลย 11 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงกลาโหม กองทัพบก, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ, นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, นายทักษิณ ชินวัตร, กรุงเทพมหานคร และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นายราเมศ กล่าวต่อว่า โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการวางเพลิงเผาอาคาร จำนวน 3 คูหา ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนราชปรารถ กรุงเทพมหานคร ในช่วงระยะเวลาที่มีการชุมนุมของกลุ่มนปช. จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 385,920,800 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และกทม. ส่วนจำเลยคนอื่นยกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น "แต่ศาลฎีกาพิพากษากลับให้นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ ร่วมกันรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,347,000 บาท นอกจากนี้ยังให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 12,000,000 บาท และร่วมกันรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากคำพิพากษา พบว่าศาลฎีกาให้เหตุผลสรุปสาระสำคัญว่าคำพูดของนายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ ล้วนเป็นการปราศรัยที่ยุยงส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมร่วมกันแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่" นายราเมศ กล่าว นายราเมศ กล่าวด้วยว่า ในคำพิพากษายังระบุอีกว่าตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและทรัพย์สินที่ถูกบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่มนปช.วางเพลิงเผาทำลายนั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นจากคำกล่าวปราศรัยของนายจตุพร นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ด้วย โดยเข้าลักษณะเป็นผู้ยุยงส่งเสริมในการทำละเมิดของบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่มนปช. ที่ร่วมกันเผาอาคารและทรัพย์สิน จึงเป็นเหตุผลที่ศาลฎีกาได้พิพากษาให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ขณะที่จำเลยคนอื่นๆ ศาลยกฟ้อง ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาต้องถือว่าเป็นที่สุด ว่ากันต่อด้วยเรื่องชำระค่าเสียหายให้กับโจทก์ผู้ที่ได้รับความเสียหายต่อไป ส่วนคดีอื่นๆที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ในหลายคดีก็เขื่อว่าจะมีการนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ไปประกอบด้วย เพราะมีรายละเอียดที่น่าสนใจ