ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ส.ค.2562) องค์การบริหารส่วนตำบลละงู โดยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับ สถานีเรือละงู และโรงเรียนละงูพิทยาคม จัดโครงการเยาวชนไทยใส่ใจสาธารณภัย ประจำปี 2562 โดยมีนายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเยาวชนไทยใส่ใจสาธารณภัย ณ สะพานข้ามกาลเวลา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 80 คน เนื่องด้วยในปัจจุบันปัญหาสาธารณภัยมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งภัยอีกรูปแบบหนึ่งที่เริ่มมีมากขึ้นคือ เด็กและเยาวชนจมน้ำเสียชีวิต องค์การบริหารส่วนตำบลละงู ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของชีวิตและความปลอดภัยของ เด็กและเยาวชน จึงเกิดโครงการเยาวชนไทยใส่ใจสาธารณภัย เพื่อเป็นการซักซ้อมวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ และวิธีการหลบหลีกอันตรายต่างๆ ได้รับความรู้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารภัยทางน้ำ การช่วยเหลือเพื่อนจมน้ำ และวิธีการขอความช่วยเหลือ เพื่อให้เยาวชนสามารถรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย นายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู กล่าวว่า “องค์การบริหารส่วนตำบลละงู ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาเด็กและเยาวชนจมน้ำเสียชีวิต จึงจัดโครงการเยาวชนไทยใส่ใจสาธารณภัยขึ้นเพื่อให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจ โดยในปัจจุบันเด็กและเยาวชน เสียชีวิตจากการจมน้ำ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของไทย โดยส่วนมากเมื่อเกิดเหตุการณ์เด็กจมน้ำจะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันเนื่องจากเด็กเสียชีวิตแล้ว โดยปกติจะพบเด็กจมน้ำมากในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ และสำหรับช่วงปิดเทอมมักพบเด็กจมน้ำมากในช่วงเวลา 12.00 น. – 18.00 น. เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน และแหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการเกษตร รองลงมา คือ คู คลองระบายน้ำข้างบ้าน ซึ่งสาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่พบว่า เกิดจากการเล่นน้ำ มากที่สุดถึงร้อยละ 57 รองลงมาคือ การปล่อยเด็กเล่นน้ำเพียงลําพัง และต้องเรียนรู้กฎแห่งความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ ไม่เล่นคนเดียว ไม่เล่นน้ำตอนกลางคืน รู้จักแหล่งน้ำเสี่ยง รู้จักใช้ชูชีพหรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้เมื่อประสบเหตุ สอนให้เด็กรู้จักการเอาชีวิตรอดในน้ำ เพราะหากเด็กไม่รู้จักวิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำ เมื่อตกน้ำหรือจมน้ำในจุดที่ห่างไกลจากฝั่งมาก ๆ เด็กจะพยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่งจนหมดแรงก่อนที่จะว่ายน้ำถึงฝั่ง แต่การเอาชีวิตรอดที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือ การลอยตัวอยู่ในน้ำให้ได้นานที่สุดเพื่อรอการช่วยเหลือต่อไป”