ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต รวมเรื่องสั้นแห่งโลกความหมายของนักเขียนอาเซียน “...เราต่างเป็นกันและในเวิ้งรู้ที่สงบงามของความรัก” “เมื่อสังคมโลกก้าวหมุนไปข้างหน้า...ดูเหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญ ที่ถูกนำมาทบทวนหาคำตอบกันอยู่เสมอ โดยเนื้อแท้คนวรรณกรรมจะหมุนโลกของตนไปทางไหน?/ข้อคำถามดังกล่าวนี้ในหมู่คนวรรณกรรมและสังคมของความเป็นมนุษย์ทั่วทั้งโลก/ต่างฝ่ายก็มักจะให้คำตอบในประเด็นที่ย้ำกันอยู่ตลอดมาว่า.. “มนุษย์ทุกเพศทุกวัย ในแต่ละสังคมจะมีความขัดแย้งในตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในความรู้สึกอ้างว้างกับความเป็นอิสระเสรี/ความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติกับความห่างเหินจากธรรมชาติ/ตลอดจนความเป็นสัตว์โลกที่มีสภาวะแห่งความปรารถนาแค่เพียงทางกายกับความเป็นมนุษย์ที่มีจิตสำนึกในการใช้เหตุผลที่ดีงาม” ...แง่มุมของสังคมโลกและนัยแห่งความเป็นมนุษย์ดังกล่าว มักจะเข้ามาเกี่ยวพันกับความเป็นวรรณกรรมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งด้วยมูลเหตุของความตั้งใจและไม่ตั้งใจ/สิ่งนี้จึงทำให้ในโลกของคนวรรณกรรมเป็นเสมือนโลกที่ถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ที่ว่า... “วรรณกรรมจะเป็นดั่งตัวสะท้อนการก้าวไปเบื้องหน้าของสังคมโลกทั้งหมด”/หากแต่...วรรณกรรมสามารถสะท้อนการก้าวไปยังเบื้องหน้าของสังคมโลกทั้งหมดได้อย่างไร?/...นี่คือคำถามซ้อนคำถามที่คนวรรณกรรมต่างมุ่งแสวงหาคำตอบที่แจ้งชัดอย่างไม่หยุดยั้ง.../ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมโลกกับคนวรรณกรรมที่เกิดขึ้น จึงก่อให้เกิดวัฏจักรขั้นพื้นฐานของการสะท้อนความหมายและการหมุนโลกในส่วนของวรรณกรรมไปอยู่ ณ จุดสามจุดที่สำคัญ...อันได้แก่../ ประการแรกเกิดการสะท้อนภาพสังคมโลกและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในการนำเสนอเชิงประสบการณ์ชีวิตอันไม่ใช่ลักษณะทางประวัติศาสตร์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้คือการมุ่งสะท้อนเหตุการณ์ส่วนหนึ่งของสังคมโลก ที่คนสร้างงานวรรณกรรมได้มีโอกาสสัมผัสและมีประสบการณ์ร่วม/มีแง่มุมของความเป็นจริงสอดแทรกอยู่ตามมุมมองที่เป็นภาวะวิสัย/ ความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดในสภาวการณ์ดังกล่าวนี้ เปรียบได้ดั่งปรากฎการณ์ที่ผู้คนในสังคมคาดคิดไม่ถึง/และผู้สร้างงานวรรณกรรมก็มักจะสะท้อนเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ออกมา ทั้งในด้านรูปธรรมตามเหตุการณ์ที่มองเห็นและสัมผัสล้ำลึกตามขบวนความคิดที่ซับซ้อนเชิงนามธรรม..ประเด็นสำคัญตรงจุดนี้ จึงอยู่ที่ว่า “ความคิดในทางวรรณกรรมน่าจะมีทางพิสูจน์ได้จากสังคมที่ก้าวหมุนไป โดยเฉพาะกับปรากฎการณ์ในเชิงนามธรรม” /...ทั้งนี้ก็เพราะว่านามธรรมคือโครงสร้างพื้นฐานของความรู้สึกทางด้านค่านิยมที่ผูกติดมากับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ /อีกทั้งนามธรรมยังเปรียบได้ดั่งความปรารถนาที่เร้นลับในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งบางครั้งก็มีเหตุผล แต่อีกหลายๆครั้งกลับไม่มีเหตุผล/ด้วยเหตุนี้ การตอบสนองสังคมโลกที่ก้าวหมุนไปข้างหน้าด้วยแง่คิดเชิงนามธรรมของคนสร้างงานวรรณกรรมจึงเท่ากับเป็นการตอบสนองความคิด และเจตจำนงที่แท้ของมนุษย์ในยุคนี้ได้อย่างมีเหตุผลและตรงไปตรงมาที่สุด/... ประการที่สอง...สังคมโลกที่หมุนไปข้างหน้ามีอิทธิพลต่อคนวรรณกรรม...โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสร้างงานวรรณกรรม ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในสังคม และไม่สามารถจะหลีกหนีอิทธิพลของทางด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี จารีตศาสนา และการเมืองไปได้/ ประสบการณ์ร่วมในส่วนดังกล่าวนั้น ล้วนก่อให้เกิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของผู้สร้างงานวรรณกรรมในมิติที่ว่า...พวกเขาต่างได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมต่างๆนั้นอย่างไร?/และมีปฏิกิริยาในการตอบสนองออกไปเช่นไร?/..ในจุดสำคัญนี้...เราอาจสามารถสรุปได้ว่า...บทบาทของคนสร้างงานวรรณกรรมจะขึ้นอยู่กับผลกระทบที่เขาได้รับโดยตรง จากสภาพแวดล้อม เป็นประสบการณ์ร่วมที่อาจสะท้อนออกมาได้อย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้อื่นได้รับรู้ หรืออาจเป็นเพียงผลงานสนองตัณหาความรู้สึกของตนเอง ตลอดจนผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ทางสังคมโดยตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า การสร้างงานวรรณกรรมในแต่ละคนนั้นจะเข้าใจในแง่มุมของชีวิตและบทบาทการก้าวไปของสังคมโลกได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น../ ประการสุดท้าย...คนสร้างงานวรรณกรรมย่อมต้องมีผลต่อการก้าวไปของสังคมโลก/...นั่นหมายถึงว่า...ผลงานสร้างสรรค์ของคนสร้างงานวรรณกรรมร่วมสมัยส่วนใหญ่ มักจะมีความหมายแห่งชีวิตในลีลาที่โน้มนำให้จิตใจของผู้อ่านได้ร่วมพิจารณาถึงความเป็นไปได้ด้านต่างๆของสังคมโลก/เหตุนี้...ผู้สร้างงานวรรณกรรม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความคิดอย่างหนักประกอบในการทำงาน/แต่เหนือยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือความสำคัญของสาระเรื่องราวที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ประเด็นของการใช้ความคิด แต่มันอยู่ที่วิธีคิดและวิธีจัดการกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมโลกของพวกเขา/...จากประเด็นความสำคัญทั้งสามประการที่ได้กล่าวถึงไปนั้น...จึงหมายรวมถึงว่า...คนสร้างงานวรรณกรรมล้วนต่างต้องเป็นผู้ตระหนักและเข้าใจ..สภาพความเป็นไปของมนุษย์ในสังคมที่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งได้ชัดเจนกว่าผู้อื่น และในทัศนะทางสังคมวิทยา นักสังคมวิทยาจะมองผู้สร้างงานวรรณกรรมในลักษณะนี้ว่า “เป็นผู้ วาดภาพความจริงที่เป็นจริง”...ซึ่งนั่นหมายถึงว่าพวกเขาทั้งหลายต่างได้สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมโลกออกมาในทุกๆมิติ...นับแต่การสร้างผัสสะของความรู้สึกด้วยจิตใจ/การมองเหตุการณ์ และการตีความหมายในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นๆด้วยความลุ่มลึกและทัศนะที่กว้างไกล.../ภาพแห่งสังคมโลกที่ถูกนำเสนอออกมาท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่เป็นไปเบื้องหน้า อันเปรียบเสมือน”ภาพพจน์แห่งจิตวิญญาณ”ที่สามารถรับรู้ในรู้สึกด้วยหัวใจ/สามารถรับรู้และคิดฝันถึงสภาวะ ตลอดจนประสบการณ์อันนับเนื่องสู่การเป็นแก่นแท้โดยผ่านการกลั่นกรองจากสำนึกและตัวตนอันกระจ่างแจ้งแล้ว/การหมุนโลกของวรรณกรรมจนสามารถข้ามผ่านจุดสามจุดที่ได้กล่าวไปข้างต้น จึงถือเป็นข้อสรุปของผลรวมทางความคิดที่อาจจะบอกได้ว่า”โดยแท้จริงแล้ว...เนื้อแท้แห่งความเป็นวรรณกรรมหาใช่เป็นเพียงภาพสะท้อนของปัจจุบัน...แต่จะต้องเป็นภาพสะท้อนที่ต่อเนื่องและสามารถคาดคะเนไปถึงอนาคตได้/”เมื่อสังคมก้าวหมุนไปข้างหน้า คนวรรณกรรมจะหมุนโลกของตนไปทางไหน?”/เมื่อย่อส่วนลงมาสู่พื้นที่ชีวิตที่มีประชากรมากเป็นอันดับสามของโลก/มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อันกว้างใหญ่ทั้งทะเล ภูเขา เกาะแก่ง และ ป่าไม้/อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและการดำรงอยู่ของผู้คนในหลากหลายชาติพันธุ์/ท่ามกลางวิถีแห่งเกียรติยศอันน่ายกย่อง/ดินแดนส่วนนี้กลับกลายเป็นสนามรบและซากเดนแห่งสงครามที่ขมขื่นยิ่งกว่ามายาคติแห่งความเป็นโศกนาฏกรรม/นั่นคือความจริงแท้ของโลกอันไม่อาจปฏิเสธเป็นอื่นได้/... ณ ที่นี้เราต่างอยู่ในดินแดนแห่งพื้นที่ชีวิตของเราอย่างนบน้อม/รักใคร่และหวงแหน/สิ่งที่บังเกิดขึ้นทั้งมวลทั้งที่เป็นด้านมืดและด้านสว่าง/คือแก่นแท้แห่งการยอมรับที่จะแบกรับรอยบาดเจ็บของชีวิตเพื่อการดำรงอยู่ในวันเวลาของตัวตนตลอดไป/ลึกลงไปในดินแดนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/นามอาเซียนคือสำนึกรู้แห่งการอยู่ร่วมที่ผูกพันในกันและกันด้วยความรู้สึกรัก/เอกภาพเหนือดินแดนแห่งนี้/คือโยงใยแห่งความเป็นพี่น้องและความเป็นมิตรสหายที่ชิดใกล้...มันคือภาพกว้างของชีวิตที่สะท้อนถ่ายออกมาด้วยรูปรอยของสัจจะและประพันธกรรมอันล้ำค่า.../ ณ ที่นี้รวมเรื่องสั้น....ในฐานะของนักเขียนตัวแทนจากสิบประเทศแห่งอาเซียน/ในนาม”ความรัก”(I Was Born To be Yours”...คือหมุดหมายสำคัญที่ครอบคลุมการบอกกล่าวถึงว่า…เราต่างมีเรื่องราวที่จะบอกกล่าว...มันคือบทเพลงสารภาพจากส่วนลึกของการตระหนักรู้/มันคือคุณค่าแห่งการตีความผ่านยุคสมัย/มันคือโอสถสมานแผลในการเยียวยานัยแห่งความผิดหวังหมองหม่น/เช่นเดียวกับว่ามันคือชัยชนะอันถาวรที่กลั่นออกมาจากหัวใจชองการประพันธ์/...”ในวิกฤตแห่งโชคชะตา...ณ พื้นที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย...เราอาจเกื้อกูลกันได้ด้วยหัวใจที่เปี่ยมเต็มไปด้วยความวาดหวัง แม้จะต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย แต่สิ่งที่เสียสละให้แก่กันและในห้วงแห่งความเป็นความตายนั้นย่อมคือน้ำใจแห่งความรักที่สูงค่าและเป็นความทรงจำเสมอ/...เราย่อมไม่อาจเลี่ยงพ้นบริบทแห่งชะตากรรมไปได้หรอกโดยเฉพาะเงื่อนงำของความตายและการอยู่รอด/แต่บางทีการได้นอนอย่างสงบนิ่งไร้ลมหายใจในหลุมฝังศพ/ก็ยังจะมีชีวิตชีวาเสียยิ่งกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างเปล่าดายและไร้ค่าเหนือหลุมฝังศพนั้น/...ลึกลงไปภายใต้อุโมงค์แห่งการสัญจรของยุคสมัย...เราต่างมุดหัวอยู่ใต้ผืนดินวันแล้ววันเล่า...แม้จะเคลื่อนไหว แต่ก็หยุดนิ่งในการก้าวย่างทางจิตวิญญาณอย่างสูญสิ้น....มันคือริ้วรอยที่แปดเปื้อนของความไร้สาระ/...ในบางขณะกับชีวิตที่กำลังจะสูญเสียและลาลับ..แต่.ด้วยมือที่เอื้อมเข้ามาโอบประคองและฟื้นชีวิตให้/..นั่นคือความรักต่อเพื่อนร่วมโลกที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ/เป็นบทสะท้อนแห่งนัยของมนุษยธรรม/เพียงแต่ว่าความเป็นมนุษย์ ณ วันนี้ จะสามารถสร้างกลไกแห่งสำนึกในบุญคุณแก่ผู้ได้รับการเกื้อกูลได้บ้างหรือไม่?/..คำถามแห่งคุณธรรมในข้อนี้คือบาปที่เปื้อนใจแห่งยุคสมัยที่ไม่อาจเลี่ยงพ้น/...แต่จะมีอะไรเล่าที่จะยืนยันถึงความรักที่แท้ของเรา...”ถ้าฉันมีรักทั้งสองรัก...รักที่หนึ่งได้ทำให้ชีวิตฉันสมบูรณ์ แต่รักที่สองจะเป็นการทำลายฉันหรือเปล่า..มาถึงตอนนี้ ฉันคงไม่มีโอกาสรู้อีกแล้ว”/..และ.อาจบางทีอุบัติการณ์ที่เหนือคาดคิดก็สามารถนำเรามาพบกันอีกครั้ง/ในความทรงจำแห่งศรัทธา รากฐานของศรัทธาจะเปิดหลุมพรางแห่งหัวใจของเราให้กระจ่างชัดขึ้น/ตลอดไป...นิรันดร์/...มีความเชื่อที่จริงจังถูกระบุว่าความรักคือพิษร้ายดั่งยาเสพติดเป็นสิ่งที่น่าเดียดฉันท์/ในวิถีเชิงปรัชญาและจิตวิทยาการเรียนรู้ถึงความรักจักไม่ปรากฏคุณค่าใดๆขึ้นมานอกจากการทำลาย..นั่นคือความเชื่อที่ทั้งแปลกต่างและฝังลึก../แท้จริงแล้วหากเรามีรอยร่างเป็นดั่งน้ำในขวด ตัวตนของเราจะแปรรูปรอยไปตามเจตจำนง...ดีงามจริงลวงเช่นไรย่อมขึ้นอยู่กับการเป็นและการกลายเป็นในแต่ละครั้ง..ข้อสรุปของชีวิตในพื้นที่ตายตัวของความเป็นปัจเจกคือคำตอบอันชวนใคร่ครวญต่อความหมายอันแท้จริงของตัวตนแห่งเรายิ่งนัก/.../...นัยแห่งรสชาติของอาหารบนเส้นทางยาวนานของชีวิต/ข้อพิสูจน์แห่งศิลปะและการกระทำที่ฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณคือการเล่าขานความจริงจากภายในสู่ภายนอกเป็นปรากฎการณ์แห่งสำนึกอันอัศจรรย์ผ่านพืชผักเล็กๆที่ทรงความยิ่งใหญ่ต่อการปรุงแต่งอันจะขาดหายไปไม่ได้เพราะมันคือรสชาติที่เกาะกินอยู่กับความเป็นประวัติศาสตร์ที่ฝังลึกและมีค่า/.และที่สุด..ด้วยดอกไม้ที่ทายท้าดวงตะวันในสวนศรีที่เปิดกว้าง การปลูกดอกไม้งามเหล่านี้ในแผ่นดินของความขัดแย้ง..ล้วนคือสัญญะที่มีชีวิตที่สื่อถึงความหวังที่ทอดยาวออกไปไกลสู่ความงามของศานติธรรมอันเที่ยงแท้/...ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือแก่นสาระแห่งเนื้อแท้ของรวมเรื่องสั้นทั้งสิบเรื่อง/ที่สรรค์สร้างขึ้นจากชีวิตของเรา เลือดเนื้อแห่งความคิดของเรา และในดินแดนที่เป็นบ้านแห่งชีวิตของพวกเราทุกๆคน/...ด้านหนึ่งแห่งความเป็นไปของโลกเกิดขึ้นที่นี่/ในดินแดนถิ่นเกิดอันเป็นที่รักของเรา/ที่สุดแล้วคำถามเหนือวิถีแห่งสัจจะก็วนซ้ำกลับมาถามไถ่เอาคำตอบอันแท้จริงกับเราอีกครั้ง/คำตอบนี้อาจจะอยู่ที่ความงดงามในจิตใจของท่านและพวกเราทุกๆคน/อาจจะอยู่ที่อุดมการณ์อันสูงส่งของชีวิต อาจจะอยู่กับความฝังจำที่เคืองแค้น หรือกระทั่ง อาจจะอยู่กับวัฏจักรของความเป็นไปขั้นพื้นฐานที่แสนจะสามัญและไม่มีคุณค่าอะไรเลย...ในขณะที่คนวรรณกรรมอาจกำลังถกเถียงและมีข้อขัดแย้งกันอยู่ในหลากหลายประเด็น/โดยเฉพาะในเงื่อนงำแห่งโลกสมัยอันแปรเปลี่ยน/ความเป็นผู้ใช้ความคิดและปัญญาในนามแห่งนักเขียนจึงถูกเพ่งมองและถูกตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะเป็นผู้นำความเบิกบานมาสู่โลกได้หรือไม่?..ในความสำคัญแห่งชีวิตมนุษย์ที่มิอาจเปลี่ยนแปร.../นักเขียนย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องก้าวไปพร้อมกับสังคมโลก/พวกเขาย่อมสามารถหมุนโลกให้หันเหไปในทิศทางไหนก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา...ด้วยผลงานแห่งชีวิตและด้วยความมุ่งหวังแท้จริงในข้อตระหนักของพวกเขาเอง/....”เมื่อสังคมโลกก้าวหมุนไปข้างหน้า คนวรรณกรรมจะหมุนโลกไปในทางไหน?/เนื้อแท้แห่งคำถามอันซ้อนซ้ำในซ้ำซ้อนนี้/เราทุกคน จัก ต้องลองย้อนกลับไปหาคำตอบด้วยตัวของตัวเองดูสักครั้ง...และอีกครั้ง”/....นั่นคือวิถี...ในเวิ้งรู้ที่สงบงามของความรักที่มิอาจเปลี่ยนแปรได้...แม้เมื่อใด!!!!