คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย แม้ว่าวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯสมัยหน้าจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งยังมีเวลาเหลืออีกแค่เพียง 14 เดือนเท่านั้น ทว่าระยะดังกล่าวอาจจะมีเหตุการณ์แปลกๆใหม่ๆเกิดขึ้นก็เป็นไปได้และอาจจะสร้างทั้งผลดีและผลเสียให้แก่ประธานาธิบดีทรัมป์หรือนักการเมืองของพรรคเดโมแครตทั้ง 23 คนที่กำลังรณรงค์หาเสียงเพื่อคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคในขณะนี้ ส่วนความหวังของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ได้มีนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลหลายคนภายในพรรคได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อประธานาธิบดีทรัมป์ โดยออกมาดำริว่า “ต้องการจะให้นักการเมืองคนอื่นเข้าไปเป็นตัวของพรรครีพับลิกัน” อีกทั้งยังมี “บิล เวลด์” อดีตผู้ว่าฯรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ออกมาประกาศตัวลงแข่งขันเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันแล้วเมื่อกลางเดือนเมษายนนี้ รวมถึง “มาร์ค แซนฟอร์ด” อดีตส.ส.จากรัฐแคโรไลนา ก็ได้ออกมาประกาศเมื่อเดือนนี้ว่า “เขาก็กำลังวางแผนที่จะลงท้าชิงกับประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยเช่นกัน” อนึ่งการที่ประธานาธิบดีทรัมป์มั่นใจมาโดยตลอดว่า “การที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯรุ่งเรืองเติบโตอยู่ในขณะนี้ สืบเนื่องมาจากผลงานของตน” แถมยังออกมาโอ้อวดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ว่า “เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา นับว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลก” แต่ทว่ากลับมีสัญญาณออกมาจากเหล่านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งวิเคราะห์ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯมีแนวโน้มว่าจะชลอตัวหรืออาจจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และมีท่าทีว่าจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆก็นับว่าเป็นอันตรายต่ออนาคตทางการเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแน่นอน!!! อนึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้มีติดต่อกันมาแล้วนานถึง 11 ปีโดยเริ่มต้นในสมัยของประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งที่ตอนเขาเข้าสู่ทำเนียบขาว มีจำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 7.8% และเพิ่มสูงมากขึ้นถึง 12.7% แต่เมื่อเขาลงมือฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสิบปีระหว่างปี 2009 ถึง 2019 (American Recovery and Reinvestment Act of 2009) เพื่อตอบสนองต่อภาวะถดถอยครั้งใหญ่เป็นเงิน 787 พันล้านเหรียญ เป็นที่สังเกตว่าระหว่างปี 2008-2012 ธนาคารล้มระเนระนาดมากถึง 465 แห่ง และตอนที่โอบามาพ้นจากตำแหน่ง ปรากฏว่าอัตราคนว่างงานลดจำนวนลงเหลือเพียง 4.8% และขณะนี้อยู่ที่ 3.6% แปลว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับอานิสงส์เป็นผลพลอยได้จากผลงานของประธานาธิบดีบารัก โอบามาทำนองเดียวกับประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนและประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนฮาวร์เพราะประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี.รูสเวลท์ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้จากการจัดอันดับล่าสุดของนักรัฐศาสตร์เกือบ 200 คน ที่ได้ออกมาจัดอันดับประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมชมชอบ ปรากฏว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามา ติดอยู่ในอันดับที่ที่ 8 ในจำนวนประธานาธิบดีสหรัฐฯทั้งหมด 44 คน ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ในอันดับที่ 44 อย่างไรก็ตามเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เล็งเห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์และวงการธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณว่าในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยหรือตกฮวบก็ได้ ทำให้ทรัมป์เริ่มเกิดอาการกังวลและไหวหวั่น และออกมาโจมตีกลับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ตามฟอร์มเดิมที่เขาถนัด!!! ทั้งนี้อย่าลืมว่าขณะนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ชูจุดแข็งที่ใช้ในการหาเสียงของเขาก็คือ “สหรัฐฯมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในโลก” สำหรับนักการเมืองของค่ายพรรคเดโมแครตที่เหลือ 23 คนจากที่เคยมี 24 คน โดยขณะนี้อาจจะมีเพียงหกคนเท่านั้นที่อยู่ในข่ายมีความหวังจะได้รับเลือกให้เข้าไปเป็นตัวแทนของพรรค ดั่งจะเห็นได้จากคะแนนนิยมของสำนักหยั่งเสียงซีเอ็นเอ็นล่าสุด!!! จากผลของการหยั่งเสียงของซีเอ็นเอ็นล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมนี้ปรากฏว่า แนวโน้มของผู้ที่มีโอกาสจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคมี อาทิ “โจ ไบเดน” ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองนานถึง 48 ปี อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งขณะนี้กำลังมีคะแนนนิยมนำลิ่วอยู่ที่ 29% อาจจะสืบเนื่องมาจากเขามีประสบการณ์มาแล้วอย่างมากมาย สำหรับ “วุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอร์ส”ได้รับคะแนนนิยม 15% โดยเขาอธิบายตนว่าเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตยและเกือบจะได้รับเลือกเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตเมื่อสองปีก่อนและยังเป็นนักการเมืองที่เป็นยอดนิยมของคนวัยรุ่นและจากกลุ่มหัวก้าวหน้า ส่วน“วุฒิสมาชิกอลิซาเบท วอร์เรน” ได้รับคะแนนนิยม 14% นับว่าเธอผู้นี้เป็นนักการเมืองหญิงที่มีฝีปากและคารมอันแสนคมคาย เป็นนักโต้วาทีที่หาตัวจับยาก เป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายๆสถาบัน และเหนือสิ่งอื่นใดเธอวางตนเป็นศัตรูกับประธานาธิบดีทรัมป์อย่างสุดโต่ง สำหรับ“วุฒิสมาชิกคามาลา แฮริส”ที่เคยได้รับคะแนนนิยม 17% เมื่อเดือนมิถุนายนแต่ได้รับคะแนนนิยมเหลือ 5% แต่ก็ไม่ควรมองข้ามนักการเมืองผู้นี้ได้เพราะเธอมาจากรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด ทั้งนี้แฮริสรับตำแหน่งวุฒิสมาชิกเพียงแค่สองปีเท่านั้น นับว่าเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆพอๆกันกับบารักโดยขณะนี้คนอเมริกันมักจะออกมาตั้งคำถามว่า เธอจะเดินตามรอยของประธานาธิบดีบารัก โอบามาหรือไม่? “วุฒิสมาชิกคอร์รีย์ บูเกอร์” นักการเมืองผิวสีอีกคนหนึ่งแห่งพรรคเดโมแครต อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนวก รัฐนิวเจอร์ซี จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ทางด้านรัฐศาสตร์จากแสตนฟอร์ดและจบด้านกฏหมายจากมหาวิทยาลัยเยล โดยเขามักจะถูกขนามนามว่า “นักปฏิรูปทางการเมือง”และเขายังเป็นนักโต้วาทีระดับต้นๆของนักการเมืองในสภาคองเกรสอีกด้วย!!! กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นแม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะออกมาอ้าปากโอ้อวดผลงานของเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ดูเหมือนว่า ขณะนี้เขากำลังเผชิญศึกหนักทางการเมืองหลายๆด้านมากๆด่าน ไม่ว่าจะเป็นศึกทางด้านการค้าที่กำลังห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายกับจีน อีกทั้งสัญญาณทางด้านลบของเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะอำนวยต่อคำที่เขาออกมาอวดอ้างมากเท่าใดนัก แถมยังมีศึกหนักอกจากนักการเมืองในสภาคองเกรสที่กำลังรุกหน้าต้องการจะถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง ซึ่งมองๆไปแล้วศึกครั้งนี้ถ้าเขาไม่สามารถฝ่าฟันให้ผ่านไปได้ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตละครับ