22-23 ส.ค.นี้ ที่ม.รังสิต ชี้เป็นมาตรการระยะสั้น แต่ขณะเดียวกันได้แนะหลากหลายช่องทางจำหน่าย ทั้งแปรรูปเพิ่มมูลค่า ตลาดออนไลน์ หวังให้มีการต่อยอดแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป ด้วยผลผลิตมังคุดในปีนี้ออกสู่ท้องตลาดมากกว่าปีที่แล้วกว่า 140% ทำให้มังคุดล้นตลาดและราคาหน้าสวนตกลงไปอยู่ที่เพียงกิโลละ 7-8 บาทเท่านั้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า มหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้จัดกิจกรรม “ม.รังสิต ช่วยชาวสวนกู้วิกฤต “มังคุด” ราคาตก จัดตลาดนัดลานเเบร์ เเชร์มังคุด” ซึ่งเกิดจากแนวคิดของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี สั่งการอย่างเร่งด่วนในการช่วยเหลือชาวสวนเหมือนเมื่อปี 2559 ที่ได้จัดกิจกรรมซับน้ำตาชาวนา ในโครงการข้าวแลกค่าเทอม ในครั้งนี้ได้กำหนดมาตรการระยะสั้น 4 มาตรการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนคือ  1. จัด “ตลาดนัดลานแบร์ แชร์มังคุด” ให้ชาวสวนได้นำมังคุดมาจำหน่ายโดยส่งตรงจากสวนทั่วประเทศ โดยม.รังสิตจะเป็นตัวกลางระหว่างชาวสวนและผู้ซื้อในการจำหน่ายมังคุดระหว่างวันที่ 22-23 ส.ค.62 เวลา09.00-18.00 น. ณ บริเวณหน้าอาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต ภายในงานมีกิจกรรมประมูลมังคุดนาทีทอง บุฟเฟ่ต์มังคุดไม่จำกัดเวลา พร้อมรับฟังเวทีเสวนา “มังคุดเป็นได้มากกว่าที่คิด” การ Work Shop การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามังคุด และ Short Course การตลาดออนไลน์ในยุคดิจิทัล เป็นต้น 2. เปิดพรีออเดอร์ซื้อ-ขายมังคุดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อรับออร์เดอร์มังคุดให้กับชาวสวนโดยตรง 4. ให้นักศึกษาที่เป็นลูกหลานชาวสวนขึ้นทะเบียนมังคุดแลกค่าเทอม และ 4. จัดหลักสูตรอบรม (ฟรี) ให้ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามังคุด กู้วิกฤตมังคุดไทยล้นตลาด นอกจากนี้ จะจัดให้มีเวทีอภิปรายเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอีกด้วย             ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า  “ตลาดนัดลานแบร์ แชร์มังคุด” ในครั้งนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ที่มหาวิทยาลัยรังสิตจะร่วมแก้ปัญหากับพี่น้องเกษตรกรไทยไปด้วยกัน ซึ่งมาตรการระยะสั้นนี้ นอกจากช่วยระบายผลผลิตของเกษตรกร มังคุดไทย ผลไม้ไทยที่มีรสชาติอร่อย เป็นหนึ่งในราชินีผลไม้ที่ขึ้นชื่อของไทย เป็นทั้งไม้ผลที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่กำลังเผชิญกับปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี ยังคาดหวังว่า เนื้อหาและสาระในการจัดงานครั้งนี้จะเป็นการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา มีความเข้าใจในเบื้องลึกถึงโครงสร้าง ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร และทำให้เกษตรกรไทยสามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลผลิต เข้าถึงนวัตกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์และมาตรการแก้ไขในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมไปด้วยกันต่อไป