สพด.ขอนแก่น พลิกฟื้นดินเค็มปลูกข้าวได้ผลดี ดึงคนคืนถิ่นทำเกษตรอย่างยั่งยืน นางนงนุช ศรีพุ่ม ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่น สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ดินเค็มประมาณ 2.1 ล้านไร่ กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ มีทั้งระดับดินเค็มมาก ดินเค็มปานกลาง และดินเค็มน้อย แต่พื้นที่ที่พบปัญหาดินเค็มมากที่สุดอยู่ที่อำเภอบ้านไผ่ จำนวน 1.5 แสนไร่ ปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกลือมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช ทำให้ดินมีโครงสร้างแน่นทึบไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มในการทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่น ได้เข้าไปทำโครงการจัดการดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นกิจกรรมการแก้ปัญหาดินเค็มให้ครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ การป้องกันการแพร่กระจายของพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะเกิดดินเค็ม โดยเฉพาะการจัดการพื้นที่สูงหรือพื้นที่เชิงเนินด้วยการปลูกป่า เช่น ไม้ยืนต้น ไม้ผล หรือพืชผัก เพื่อให้ต้นไม้ได้ช่วยดึงน้ำจากข้างบนไม่ให้น้ำฝนที่ตกลงสู่ที่ต่ำนำเกลือมาสู่ผิวดิน กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำที่ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่มักจะเกิดปัญหาดินเค็มนั้นจะเข้าไปดำเนินการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วยการปรับโครงสร้างแปลงนา ซึ่งที่นาในพื้นที่ภาคอีสานจะเป็นลูกคลื่นไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งคันนาเล็ก ก็จะเข้าไปปรับรูปแปลงนาให้สม่ำเสมอ ปรับคันนาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อความสะดวกในการขนส่งหรือนำเครื่องจักรกลเข้าไปในพื้นที่ ตลอดจนสามารถใช้ประโยชน์ปลูกไม้ยืนต้นทนเค็มบนคันนา อย่างกระถินออสเตรเลีย (อะคาเซีย) หรือยูคาลิปตัส ที่สามารถตัดไม้ขายให้กับบริษัท SCG ได้เมื่ออายุครบ 4 ปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง ส่วนพื้นที่ดินเค็มมากจะใช้ระบบวิศวกรรมเข้าไปควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มทั้งผิวดินและใต้ผิวดิน นอกจากเข้าไปดำเนินการปรับรูปแปลงนาให้ใหญ่ขึ้นสามารถกักเก็บน้ำได้ดีขึ้นแล้ว ยังรณรงค์ให้เกษตรกรไถกลบตอซังข้าว ควบคู่กับการปลูกพืชปุ๋ยสด ได้แก่ โสนอัฟริกัน และปอเทือง เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน สำหรับพื้นที่ดินเค็มที่มีน้ำขังจะแนะนำให้ปลูกโสนอัฟริกัน ในอัตรา 5 กก.ต่อไร่ ปลูก 50-60 วัน แล้วไถกลบจะได้อินทรียวัตถุให้กับดินมีปริมาณไนโตรเจนสูง ด้วยต้นทุนประมาณ 150 บาทต่อไร่ เมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ จะสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี และยังทำให้ต้นข้าวที่ปลูกในฤดูถัดไปเจริญงอกงามดีขึ้นด้วย ผลจากการเข้าไปแก้ปัญหาดินเค็มแบบบูรณาการ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ให้การยอมรับ เนื่องจากเมื่อก่อนคนในพื้นที่ดินเค็มสิ้นหวัง ปลูกอะไรก็ไม่ได้ พอเรานำเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินเข้าไปทำ พลิกฟื้นพื้นที่ดินเค็มให้สามารถนำกลับมาใช้ปลูกข้าวได้ผลดีขึ้น ปัญหาข้าวลีบน้อยลง ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 50% จากที่เคยได้ และลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ 50% จากแค่ปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน ปัจจุบันก็ขายได้ บางรายก็สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวหอมมะลิบนพื้นที่ดินเค็ม เช่น เดิมหากสีเป็นข้าวสารแล้วเก็บไว้รอจำหน่ายจะได้ราคาที่ 10-15 บาทต่อกก. แต่ปัจจุบันจะสีก็ต่อเมื่อมีลูกค้าสั่งเพื่อเก็บรักษาความหอมให้ยาวนานขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 50-60 บาทต่อกก. ลูกหลานที่เคยออกไปรับจ้างต่างถิ่นก็กลับมาช่วยพ่อแม่ทำนา เพราะเห็นหนทางสร้างรายได้มากขึ้นนั่นเอง ลดการอพยพย้ายถิ่นไปทำงานในเมือง ส่งผลให้ครอบครัวอบอุ่น เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น