ปัจจุบันในประเทศไทยการเลี้ยงไก่และสุกรรูปแบบอุตสาหกรรม จัดได้ว่าอยู่ในระดับชั้นนำของโลก ซึ่ง ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า “โดยทั่วไปในตัวสัตว์จะมีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาอยู่แล้ว การเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบฟาร์ม สัตว์จะถูกเลี้ยงรวมกันเป็นฝูง ซึ่งถ้าสุขภาพของสัตว์อยู่ในสภาวะที่อ่อนแอจากการอยู่รวมๆ กัน สัตว์ก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไปที่อยู่ตามสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นถ้าสุขภาพของสัตว์แย่ลงก็จะยิ่งง่ายต่อการเจ็บป่วย ดังนั้นงานของสัตวแพทย์ จะทำหน้าที่ในการตรวจสุขภาพสัตว์ในระดับฝูง เพื่อวินิจฉัยถึงความเสี่ยงและโอกาสการเกิดโรคก่อนที่สัตว์จะแสดงอาการ เพื่อวางแผนป้องกันหรือรักษา ซึ่งถ้าวินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ สัตวแพทย์ก็จะกำหนดชื่อยา ขนาดและวิธีการใช้ รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ นอกจากนี้ยังต้องติดตามผลและที่สำคัญจะต้องกำหนดระยะหยุดการใช้ยาก่อนการนำสุกรเข้าชำแหละ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จากที่กล่าวเบื้องต้นว่า ปกติตัวสัตว์ ไม่ว่าจะแข็งแรงหรือป่วย ก็จะมีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาอยู่ ทำให้ยังคงมีแบคทีเรียที่มีความต้านทานต่อยาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่ แต่ท้ายที่สุดแบคทีเรียนั้นก็จะถูกกำจัดด้วยระบบภูมิคุ้มกันของสุกร และสุดท้ายด้วยระบบการจัดการของฟาร์มที่เลี้ยงแบบเข้าหมดออกหมด หรือที่เรียกว่า ALL in - ALL outซึ่งจะมีการล้าง ทำความสะอาด ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ และหยุดพักโรงเรือนเลี้ยงเพื่อให้มั่นใจว่า เชื้อโรคที่มีอยู่ในโรงเรือนนั้นได้หมดไป ก่อนที่จะนำสัตว์ชุดใหม่เข้ามาเลี้ยง ทำให้เชื้อดื้อยาที่มีอยู่ก็จะตายไปเอง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมปศุสัตว์ที่จะเข้ามาตรวจสอบและรับรองกระบวนการให้ได้ตามระเบียบของกรมปศุสัตว์” ถ้าให้สรุปก็คือว่า การเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยถือว่าได้มาตรฐานอันดับต้นๆ ของโลก และมีสัตวแพทย์ติดตาม เพื่อให้คำแนะนำด้านสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้ยา และที่สำคัญ ประเทศไทยนั้นจัดได้ว่าเป็นผู้นำในการเฝ้าระวังการดื้อยาในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว การใช้ยาโคลิสตินในปัจจุบัน มีการควบคุมไม่ว่าจะทั้งในคนหรือในสัตว์ ถ้าเป็นในคนก็จะเป็นแพทย์ที่เป็นผู้ออกใบสั่งยา ส่วนในสัตว์ก็จะเป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ที่จะเป็นผู้ออกใบสั่งยา โดยทั่วไปจะใช้ยาก็ต่อเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าสุกรมีอาการท้องเสียรุนแรงจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักเกิดในลูกสุกรช่วงอายุ 20-30 วัน หรือหลังหย่านม เพราะเป็นช่วงที่ต้องแยกลูกสุกรออกจากแม่สุกร และลูกสุกรยังต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ทั้งอาหารและที่อยู่ ซึ่งถ้าต้องใช้ยาก็จะใช้วิธีผสมในอาหารให้ลูกสุกรกินโดยใช้ไม่เกิน 7 วัน ยานั้นก็ออกฤทธิ์อยู่ในลำไส้ไม่เกิน 10 วัน โดยจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในลำไส้และจะขับออกมาพร้อมกับมูลสุกร ในส่วนของยีนดื้อยา MCR-1 เป็นสิ่งที่พบกันมานานแล้ว รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาที่จุลชีววิทยาทางสัตวแพทย์ ได้ให้ข้อมูลการศึกษาที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ว่า เป็นการศึกษาย้อนหลังเชื้อแข็งจาก 6 พื้นที่ 28 ฟาร์ม จำนวนทั้งสิ้น 337 ตัวอย่าง พบเชื้อเเบคทีเรีย E.Coli (อี.โคไลย์) ที่มียีนดื้อยา MCR-1 เพียง 6.8%ของตัวอย่างทั้งหมดที่มาจากสุกรอายุ 12-16 สัปดาห์ พบในลูกสุกรขุนระยะเเรกเเละลดลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ระยะหยุดยาก่อนส่งโรงชำแหละ ส่วนตัวอย่างที่ได้จากเนื้อสุกร ไม่พบ E.coli ที่มี MCR-1 ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบเชื้อดังกล่าวในเวลาใกล้เคียงกันในปี 2555 แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และยังไม่พบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างการแพร่เชื้อดื้อยาจากสัตว์สู่คนในประเทศไทย จึงควรให้ความรู้ที่ต่อยอดเชิงเภสัชวิทยา ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และศึกษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับเนื้อสุกรที่ปรุงสุก สามารถฆ่าเชื้อได้หมด โดยเชื้อดื้อยาจะไม่ถูกถ่ายทอดหรือปนเปื้อนสู่อาหาร ทางด้าน รศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามการดื้อยาของโรคอาหารเป็นพิษ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียว คือ ต้องมีการควบคุมการใช้ทั้งในคนและสัตว์อย่างเป็นระบบ กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญและดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว อีกทั้งอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยส่วนใหญ่ก็เป็นระบบปิดที่มีมาตรฐานของกรมปศุสัตว์รับรอง และควบคุมการใช้ยา ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น การเลิกใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเสมอไป เช่น การลดการใช้ยา โคลิสติน (Colistin) อาจลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมียาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ ที่ ทำให้เกิดการดื้อยาข้ามสายพันธุ์ได้ ดังนั้น การป้องกันจึงต้องควบคุมใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นตามมาคือ การใช้ยาโคลิสตินในสุกร จะส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาได้หรือไม่ และยังรับประทานเนื้อสุกรได้หรือไม่นั้น รศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ให้คำตอบชัดเจนว่า สามารถรับประทานได้ เพราะโดยปกติสุกรที่เข้าสู่กระบวนการชำแหละเป็นสุกรที่มีสุขภาพดี ผ่านกระบวนการเชือดชำแหละที่ได้มาตรฐานและนำมาปรุงสุก ปลอดภัยต่อการบริโภคแน่นอน พร้อมกันนี้ ยังได้ระบุด้วยว่า ต้องยอมรับความจริงกันว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดเชื้อดื้อยาให้หมดไป ตราบใดที่ยังมีเชื้อเเบคทีเรียอยู่ ที่ให้ทั้งคุณและโทษ ทุกคนต้องอยู่กับจุลชีพต่างๆ ให้ได้ อ┬่างสมดุลโดยการจัดการ จึงต้องช่วยกันตลอดห่วงโซ่การผลิต รับประทานอาหารสุก และคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเราไม่ป่วยเชื้อดื้อยาก็ทำอะไรเราไม่ได้ ที่สำคัญ โคลิสตินที่ตกค้างจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่นั้น จริงๆ แล้ว ปัจจุบันยังไม่สามารถตอบได้เพราะการตกค้างของสารเป็นเรื่องทางพิษวิทยา แต่การดื้อยาเป็นเรื่องจุลชีววิทยา จึงไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ง่ายๆ ทั้งยังมีกลไกที่ซับซ้อน และการหยุดใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดชนิดหนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาเสมอไป จุดสำคัญอยู่ที่การควบคุมให้มีการใช้อย่างสมเหตุ สมผล ซึ่งหมายถึงการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด การนำเอาสมุนไพร หรือ probiotics มาใช้ ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา และไม่รู้ว่าเชื้อจะมีการพัฒนาการดื้อต่อสมุนไพรหรือไม่ แม้ว่าการค้นคว้าหายาใหม่ๆ มาทดแทนจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาเชื้อดื้อยาแต่ก็ต้องทำ อย่างไรก็ดี การควบคุมการใช้ยา ต้องทำทั้งในยาคนและยาสัตว์ เพราะเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาแบบสุขภาพหนึ่งเดียว ทุกภาคส่วนมีความรับผิดชอบร่วมกันตลอดห่วงโซ่การผลิต และการควบคุมการใช้ยาต้องทำอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าทัน.