วันนี้ (20 สิงหาคม 2562) ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านขุนด่าน ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายเอกภักดิ์ คลังกลาง รองประธานเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภาคอีสาน พร้อมด้วยสมาชิกให้การต้อนรับ ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ประธานสมาพันธ์วิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย นายศรีทัศน์ มาตราช รองประธานสมาพันธ์ฯ และ นายเศรษฐภัทร์ นิตยสิทธิวรากุล ประธานเครือข่ายเมืองสมุนไพรนาคราช เพื่อเยี่ยมดูแปลงเตรียมปลูกสมุนไพรเครื่องเคียง หรือ "เครื่องเทศ" ในการนำไปปรุงยากัญชา ตามตำรับยาแพทย์แผนไทย “เครื่องเทศ” หมายถึง ส่วนต่างๆ ของพืชเช่น เมล็ด เปลือกเมล็ด ผล ผิวนอกของผล ใบ ราก ลำต้น ฯลฯ ที่ทำให้แห้ง แล้วนำมาเป็นเครื่องปรุงในอาหาร เพื่อให้ได้รสชาติ สีสัน กลิ่น หรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีเครื่องเทศเป็นจำนวนมาก เช่น กระวาน กานพลู จันทน์เทศ ดีปลี ยี่หร่า หญ้าฝรั่น มะกรูด พริก พริกไทย อบเชย แม้กระทั่ง งา เครื่องเทศมีปรากฏในหลายวัฒนธรรมมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เครื่องเทศของไทยแต่เดิมอาศัยพืชผักที่ปรากฏเฉพาะในท้องถิ่นของเรา แต่เมื่อได้ติดต่อกับต่างชาติ ทำให้เรารับเอาเครื่องเทศจากชาติอื่นมาใช้ด้วย เครื่องเทศที่ใช้ในอาหารไทยแต่ละจานก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในเรื่องรสชาติที่เผ็ดร้อน สีสันที่สวยงาม และที่สำคัญคือกลิ่นหอมอบอวลของเครื่องเทศ ไม่เพียงแต่จะใช้ประกอบอาหารเท่านั้น เครื่องเทศยังมีสรรพคุณทางยารักษาโรคอีกด้วย เครื่องเทศส่วนหนึ่งมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อีกส่วนหนึ่งเดินทางมาไกลจากต่างแดน อันเป็นที่มาของชื่อเครื่องเทศ ซึ่งคาดว่าเครื่องเทศเข้ามาสู่ครัวไทยตามการอพยพโยกย้ายของชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองไทย สำหรับเครื่องเทศที่นิยมใช้ในอาหารไทยแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ เครื่องเทศสด และเครื่องเทศแห้ง​ เครื่องเทศสด ได้แก่ พืชสวนครัวที่มีน้ำมันหอมระเหยในขณะที่ยังสดอยู่ และจะค่อยๆ ระเหยจางไปกับความแห้ง ซึ่งจะทำให้ความหอมลดลงหรือหมดไป เช่น ผักชีฝรั่ง โหระพา แมงลัก ขึ้นฉ่าย กะเพรา สะระแหน่ ขิง ข่า หอมแดง ใบมะกรูด ตะไคร้ เป็นต้น เครื่องเทศแห้ง จะให้น้ำมันหอมระเหยเมื่อแห้ง และยิ่งหอมมากขึ้นเมื่อได้รับความร้อน ซึ่งจะกระตุ้นให้คายกลิ่นหอมออกมา ดังนั้นก่อนนำไปใช้ปรุงอาหารจึงนิยมนำไปคั่วก่อน ได้แก่ อบเชย จันทน์เทศ โป๊ยกั๊ก กระวาน พริกไทยดำ ดีปลี กานพลู ยี่หร่า เป็นต้น.