ปลัดพาณิชย์ถกวอร์รูมนัดแรก วางกรอบรับมือสงครามการค้า พร้อมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนผลักดันการส่งออก การค้าชายแดน การเจรจาการค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้าและใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า พร้อมติดตามถึง Brexit ก่อนรายงานผลความคืบหน้าต่อ กรอ.พาณิชย์ปลายก.ย.62 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานการประชุมหารือคณะทำงานรองรับสถานการณ์การค้าครั้งแรกวันนี้ ตามที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานได้มอบหมายไว้ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ส.ค.62 สำหรับการจัดตั้งคณะทำงานวอร์รูม มีเป้าหมายเพื่อติดตามสถานการณ์การค้าสำคัญ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลกระทบทางด้านการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งไทยต้องหาแนวทางการรับมือที่เหมาะสมทั้งเชิงรุกและเชิงรับสำหรับระยะสั้นและระยะยาว นอกจากเรื่องสงครามการค้าแล้ว ที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ ได้มอบให้คณะวอร์รูม หาแนวทางปลดล็อคปัญหาอุปสรรคการค้าด้านต่างๆเพื่อผลักดันการส่งออกและการค้าชายแดน โดยจะรายงานความคืบหน้าต่อ กรอ.พาณิชย์ เป็นประจำทุกเดือน โดยที่ประชุมได้หารือถึงองค์ประกอบ หน้าที่ความรับผิดชอบ และแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานวอร์รูม ว่าจะมุ่งเน้นมาตรการหรือการดำเนินการที่เกิดผลรวดเร็วในระยะสั้นคือ 3-6 เดือน และระยะกลางคือ1 ปี ขณะเดียวกันจะไม่ละเลยประเด็นเชิงยุทธศาสตร์หรือนโยบายระยะยาว โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความเห็นในประเด็นการค้าที่ต้องเร่งผลักดันต่อจากที่ประชุม กรอ.พาณิชย์คือ 1.การรับมือสงครามการค้า ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันทั้งด้านการรับมือเบี่ยงเบนทางการค้า การรุกตลาดและการส่งออก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุน โดยมีสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเป็นฝ่ายเลขานุการ 2.การส่งเสริมการส่งออก การส่งเสริมตลาดและ SMEs อาทิ การจัดทำกลยุทธ์รายสินค้ารายตลาด รอบ 3 - 6 เดือน การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเอกชนและทูตพาณิชย์ และการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดใหม่หรือการประกันความเสี่ยง โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นแกนหลัก 3.การค้าชายแดน โดยใช้กลไกคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และกรมการค้าต่างประเทศเป็นเลขานุการ เพื่อหารือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปลดล็อคกฎระเบียบหรืออุปสรรคต่างๆโดยเร็วที่สุด 4.การเจรจา FTA และความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี หรือภูมิภาค เช่น RCEP ไทย-ตุรกี,ไทย-ปากีสถาน,ไทย-ศรีลังกา,ไทย-สหภาพยุโรป,ไทย-สหราชอาณาจักร โดยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก 5.การอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การผลักดันให้ National Single Window เสร็จสมบูรณ์ และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของภาคเอกชน และการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ,สนค.จะเป็นแกนกลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6.กฎหมาย ระเบียบ และมาตรการทางการค้า อาทิ การติดตามและแจ้งเตือนอุปสรรคมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs/NTMs)ของกลุ่มประเทศในอาเซียน การแก้ไขปัญหาการค้ากับอินเดียซึ่งใช้พิกัดศุลกากรที่ล้าหลังและไม่ตรงกับไทย ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศจะช่วยกันดำเนินการ ทั้งนี้นอกจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เป็นประเด็นสำคัญของวอร์รูมแล้ว ประเด็นความไม่แน่นอนอื่นๆเช่น การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร(Brexit)ก็เป็นปัจจัยกดดันภาพรวมเศรษฐกิจการค้าโลก และกระทบต่อโครงสร้างการส่งออกของไทยในทั้งช่วงปลายปีนี้และในอนาคต ภาคเอกชนในวันนี้ได้รับทราบความคืบหน้าของการเตรียมการเจรจา FTA ต่างๆ ซึ่งได้ย้ำให้หน่วยงานภาครัฐเตรียมระบบรองรับความตกลงที่จะเจรจาเสร็จเร็วๆนี้เช่น RCEP ให้เอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยเร็วที่สุด โดยขอให้ฝ่ายภาคเอกชนกระจายข้อมูลข่าวสารให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกเตรียมส่งออกด้วย โดยคณะทำงานวอร์รูมจะเน้นการดำเนินงานที่คล่องตัวให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เป็นระบบมากขึ้น พร้อมตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อปลดล็อคอุปสรรคการค้า และหาโอกาสผลักดันสินค้าและรุกตลาดต่างๆที่มีศักยภาพโดยเร็ว เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นที่อาจเข้ามารุกตลาดเดียวกันกับไทย “กระทรวงพาณิชย์จะเร่งจัดตั้งคณะทำงานวอร์รูมอย่างเป็นทางการ และจะนำประเด็นทางการค้าและข้อเสนอที่ได้จากการประชุมในวันนี้มาจัดกลุ่มและลำดับเวลา (Quick win/ระยะสั้น/ระยะกลาง) เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ครั้งต่อไป ภายในปลายเดือน ก.ย.62”