กรมชลฯ เตือนฝนมาช้า-หมดเร็ว ชี้ได้น้ำเข้าเขื่อนน้อย ระดมช่วยเหลือพื้นที่กระทบภัยแล้ง 49 จังหวัด เมื่อวันที่ 20 ส.ค.นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 17/2562 ซึ่งมีผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทา-สาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบ 
VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทาน และเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 20-25 ส.ค.62 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนการคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า 3เดือน (ส.ค. ก.ย. และต.ค.62) ในเดือนกันยายน จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และสิ้นสุดฤดูฝนในช่วงเดือนตุลาคม 
ซึ่งจะมีปริมาณฝนลดลง ถือได้ว่าในปี 2562 เป็นปีที่เริ่มต้นฤดูฝนช้าและสิ้นสุดเร็ว สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(20 ส.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 39,215 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 15,340 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 36,853 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,602 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 1,906 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับปริมาณน้ำตลอดในช่วงฤดูฝนนี้ได้รวมกันอีกกว่า 16,269 ล้าน ลบ.ม. “ช่วงที่ผ่านมาถึงแม้จะมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำไม่มากนัก สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักจากช่วงสัปดาห์ก่อนได้เล็กน้อย ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ส่วนสภาพน้ำท่าในสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีปริมาณน้ำท่าในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปริมาณน้ำท่าจึงยังคงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยเช่นกัน”รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว กรมชลประทาน ได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยพื้นที่ในเขตชลประทาน 
จำนวน 31 จังหวัด ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ จัดรอบเวรการใช้น้ำ กำจัดผักตบชวา วัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทำการสูบน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด ประชาสัมพันธ์และ
สร้างการรับรู้เรื่องสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่รับทราบอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้เกษตรกรทยอยปลูกพืชเมื่อมีฝนตกอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำนวน 18 จังหวัด ได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า และรถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเติมน้ำไปยังแหล่งน้ำดิบของการประปาเทศบาล ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่ราษฎรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ตามศักยภาพและปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด