ตอกย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อชุมชน กับความร่วมมือร่วมใจระดมความคิดสร้างสรรค์เพื่อยกระดับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น -บริการสปาศรีวิชัย อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวฯร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์และทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ร่วมกันวิจัยภายใต้แผนวิจัย “การสร้างอัตลักษณ์และยกระดับมาตรฐานการบริการสปาศรีวิชัย” ในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล ทั้งนี้ แผนการวิจัยดังกล่าวดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นโดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) โครงการวิจัยย่อยทั้ง5 ประกอบด้วย การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สปาจากสมุนไพรพื้นบ้าน การพัฒนาและประเมินประโยชน์ต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรการพัฒนามาตรฐานสปาศรีวิชัย การพัฒนาศักยภาพและยกระดับมาตรฐานการบริการสปาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และการพัฒนาอัตลักษณ์และแบรนด์สปาศรีวิชัย ผลการวิจัย6 เดือนได้มีการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรพื้นบ้านบนฐานภูมิปัญญาในรูปแบบของอีมัลเจล3สูตรได้แก่ น้ำมันมะพร้าวอีมัลเจล (Coconut oil Emulgel) กับน้ำมันไพลอีมัลเจล (Plai oil Emulgel) และอีมัลเจลมะพร้าวกับไพล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สปาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนวดคู่กับน้ำมันนวดซึ่งได้พัฒนาขึ้นสำหรับสปาศรีวิชัย5 สูตร รวมทั้งการพัฒนาเอกลักษณ์การนวดศรีวิชัย-ไพยสันตา ตลอดจนพัฒนาwelcome drink จากกล้วย การพัฒนาแนวคิดในการออกแบบ (Conceptual Design) เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้พัฒนาศูนย์เรียนรู้พืชสมุนไพรเพื่อผลิตภัณฑ์สปาและการพัฒนาพื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรอีกด้วย นอกจากนี้ ยังผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสถานบริการกับกระทรวงสาธารณสุข การฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบริการ และการขึ้นทะเบียนหมอนวดฟรีแลนซ์ ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการ สำหรับการพัฒนาเอกลักษณ์การนวดศรีวิชัย-ไพยสันตานั้น อาศัยการนวดตะวันตกซึ่งใช้เทคนิคการลูบ(Effleurage or Gliding) การกด (Petrissage or Kneading) การถู (Friction) การเคาะ (Tapotement or Percussion) และการสั่น (Vibration or Shaking) ร่วมกับการนวดไทยที่เน้นเส้นประธานสิบ ผสมผสานมาเป็นท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบศรีวิชัย ที่ประยุกต์จากการถอดท่ารำมโนราห์ระบำศรีวิชัยและท่าฤาษีดัดตน แล้วนำมาคัดเลือกท่าที่จะช่วยคลายกล้ามเนื้อของผู้ใช้บริการสปาบริเวณที่พบว่ามีปัญหาบ่อย ให้ผลดีทั้งทางสรีรวิทยาและทางจิตใจจากการนวด “ทีมวิจัยพบว่าอำเภอขนอม มีฐานทรัพยากรสมุนไพรหมอยาพื้นบ้าน วิถีชีวิตท้องถิ่นที่มีเสน่ห์ ผนวกกับความโดดเด่นของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่สงบผ่อนคลาย แต่ในส่วนของธุรกิจสปาของขนอมยังไม่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ทางทีมนักวิจัยจึงพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์สปาศรีวิชัยขึ้น โดยได้นำผลการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ศรีวิชัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากำหนดอัตลักษณ์และแบรนด์สปาศรีวิชัย ออกแบบตราสัญลักษณ์ รวมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้ประกอบธุรกิจสปา รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนขนอม ซึ่งแผนงานวิจัยนี้มุ่งยกระดับมาตรฐานทั้งด้านการบริการและการส่งเสริมสุขภาพภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง พร้อมทั้งมีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ศรีวิชัยผสมผสานอยู่ในสปา อันจะนำไปสู่การยอมรับจากผู้บริโภคและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สปาศรีวิชัยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลต่อไป” ผศ.ดร.พิมพ์ลภัสกล่าวทิ้งท้าย