“กกต.”สัมมนาแนวทางสร้างพลเมือง มั่นใจเดินมาถูกทางแล้ว “บวรศักดิ์”ชมเปราะรัฐบาลไม่เป็นปชต. แต่ผลักดันกฎหมายเอื้อพลเมืองมีส่วนร่วม ชี้พลเมืองต้องสำนึกเป็นเจ้าของบ้านเมือง-ตระหนักถึงปัญหา-มีส่วนร่วมตามบทบาทที่เหมาะสม วันที่ 19 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานเปิดสัมมนาทบทวนผลการดำเนินการสร้างพลเมือง (Big Forum) เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาเครือข่าย การสร้างพลเมือง และทิศทางการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองให้เกิดประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยนายอิทธิพร กล่าวตอนหนึ่งว่า การสัมมนาครั้งนี้จะมีส่วนเสริมสร้างความรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มีพื้นฐานเข้มแข็งต่อไป โดยเป็นการพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ มีความความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเลือกตั้ง ให้มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ และเพื่อให้ประชาชนพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้ กกต.มั่นใจว่าการเสริมสร้างพลเมืองให้มีคามรู้ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นการก้าวเดินที่ถูกต้อง เพราะการเมืองจะมีคุณภาพได้พลเมืองจะต้องมีคุณภาพก่อน ดังนั้นภารกิจที่ กกต.ดำเนินการในวันนี้เป็นเหมือนการปลูกต้นไม้ประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ โดยมีพลเมืองเป็นกำลังให้ เพื่อให้ประชาธิปไตยแข็งแรง ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต บรรยายพิเศษ เรื่อง "คุณภาพพลเมืองดี : พลังแห่งความสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ตอนหนึ่งว่า ความเป็นพลเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ผ่านมามีกฎหมายออกมาหลายฉบับซึ่งเอื้อสู่การเป็นพลเมืองและเอื้อต่อการเข้าถึงการจัดการทรัพยากร อาทิ กฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกที่กฎหมายลักษณะนี้ออกในสมัยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นกฎหมายที่เป็นผลสำคัญต่อการเอื้อให้พลเมืองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองได้ ทั้งนี้ประชาชนในการเมืองมีชื่อที่แตกต่างกัน ในสมัยก่อนเป็นไพร่ฟ้าซึ่งอยู่ภายใต้บทบาทของผู้อื่น แต่พอเป็นระบอบประชาธิปไตยก็เป็นราษฎรแต่ก็ทำหน้าที่เพียงเลือกตั้ง และปล่อยให้ตัวแทนทำงานในสภาฯไป และหากเป็นประชาชนที่มีคุณภาพก็เป็นพลเมือง โดยพลเมืองจะใช้อำนาจของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็ร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจของตัวแทน ร่วมบริการบ้านเมืองร่วมแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างแท้จริง นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้พลเมืองคุณภาพ คือ 1.รู้สิทธิหน้าที่ของตัวเองตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย รวมทั้งรู้สิทธิหน้าที่ของตัวเองในแต่ละบทบาท 2.การเลือกตั้ง ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น 3.เราต้องรู้จักผู้แทนของเรา พรรคการเมืองที่เขาสังกัด นโยบายของพรรค แต่หากไม่รู้พฤติกรรมเขาก็เหมือนการให้เช็คเปล่าไป เหมือนการเป็นราษฎรที่เลือกตั้งแล้วจบไป 4.รู้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล รู้อำนาจหน้าที่ของ ส.ส. รู้อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.ต้องสนใจติดตามสิ่งที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ 6.ต้องไม่เชื่อข่าวลือ พลเมืองต้องมีหน้าที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ต้องค้นหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ 7.ต้องเคารพกฎหมาย 8.กล้าแสดงความเห็นที่มีฐานจากการศึกษาและไตร่ตรองอย่างมีความรู้ เป็นความเห็นที่มีฐานความรู้ และอย่านิ่งเฉย ถ้าแน่ใจว่ารัฐบาลทำผิดก็ต้องบอกว่าผิด 9.ต้องลงมือทำพูดอย่างเดียวไม่ได้ และ10.มีสำนึกว่าเราเป็นเจ้าของบ้านเมือง สำนึกถึงปัญหาของบ้านเมือง และมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองและการแก้ปัญหา ทั้งนี้การมีส่วนร่วมไม่ใช่ให้เข้าไปนั่งในสภาฯกับ ส.ส.แต่มีส่วนร่วมในบทบาทที่เหมาะสม เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามประชาธิปไตยว่าอย่างไร เวลานี้นักวิชาการก็นิยามไม่เหมือนกัน ยังถกเถียงกันอยู่ แต่ที่พูดกันมากก็คือหมายถึงการบริหารงานหรือการดำเนินการอะไรก็ได้ เพื่อประชาชน ถ้าให้ดีก็คือโดยประชาชนด้วย ซึ่งถ้าถามเรื่องประชาธิปไตยก็จะมีเกณฑ์หลักๆคือ 1.อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน 2.มีการเลือกตั้งเป็นระยะและเป็นการเลือกตั้งที่ฟรีแอนด์แฟร์ 3.ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเสมอภาค 4.พรรคการเมืองมีหลายพรรค ถ้าดู 4 ข้อนี้ เมืองไทยก็เป็นประชาธิปไตย แต่ที่เถียงกันอยู่ในขณะนี้ มีประเด็นอื่นเข้ามาพัวพัน อย่างฝ่ายค้านก็บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อคนกลุ่มหนึ่ง แต่ฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยทำไมฝ่ายค้านจึงได้เสียงในการเลือกตั้งมาก ซึ่งตนคิดว่าถ้าเราประเมินด้วยเกณฑ์ขั้นต่ำมันก็เป็นประชาธิปไตย แต่ถามว่ามันเป็นประชาธิปไตยที่ควรเป็นแบบอย่างหรือไม่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง