โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรม หรือ Zoning By Agri Map เป็นอีกโครงการหนึ่งที่กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี ต้องการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจากนาข้าว ซึ่งพื้นที่ดินของเกษตรกรส่วนมากเป็นดินทราย ดินกลุ่ม 40 ที่ดอน หรือพื้นที่ N ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว นายคมเพชร สมแสวง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี เปิดเผยหลังลงพื้นที่ว่า สถานีพัฒนาที่ดินอุบลาชธานี สร้างความรับรู้ให้เกษตรกรเกิดแรงจูงใจ มาปลูกพืชผสมผสาน ปรับรูปแบบแปลงนา ปลูกพืชหลากหลาย จากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวประมาณ 7 แสนกว่าไร่ จากเดิมที่เกษตรกรในพื้นที่ทำนาข้าว เมื่อกรมพัฒนาที่ดินเข้ามาส่งเสริม แนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำนำข้าวมาทำเป็นเกษตรผสมผสาน ทำให้พื้นที่ของเกษตรกร เป็นพื้นที่ที่เป็นต้นแบบให้เกษตรกรที่มีความสนใจอยากปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ไม่เหมาะสมในการทำนาข้าวมาเป็นเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหมุนเวียนได้ทั้งปี ในส่วนของสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี มีการสนับสนุนเกษตรกรที่อยากจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว ส่วนที่ 1 ก็คือสนับสนุนองค์ความรู้ ในเรื่องของดิน ว่าดินในพื้นที่ของเกษตรกรเอง เหมาะสมที่จะปลูกพืชชนิดใด ส่วนที่ 2 คือสนับสนุนปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะถังน้ำหมัก กากน้ำตาล สารเร่งพด.ต่างๆของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อจะให้เกษตรกรนำไปใช้ในพื้นที่ของตัวเอง นอกจากนี้ยังแนะนำให้เกษตรกรในด้านองค์ความรู้บอกต่อแนะนำให้เกษตรกรที่มาเยี่ยมชมแปลง เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของเกษตรกรต่อไป นายปรีชา สารบูรณ์ หมอดินอาสาประจำตำบลก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ 12 ไร่ 3 งาน ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสาน โดยเริ่มต้นจากการปรับปรุงบำรุงดิน ปลูกปอเทือง เพื่อเป็นพืชปุ๋ยสด ใส่ปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ก่อนการเพาะปลูก ใส่น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ใส่ปูนโดโลไมท์ เพื่อลดความเป็นกรดของดิน พืชที่ตั้งใจปลูกมีความงดงามและผลผลิตน่ารับประทาน เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่ง แก้วมังกร น้อยหน่า แตงไท มะลิ ดาวเรือง พืชเหล่านี้สร้างรายได้ ได้ดีกว่าการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตเพียง 1 ครั้งต่อปีอีกด้วย นอกจากจะปลูกพืชไร่นาสวนผสมแล้ว ยังแบ่งพื้นที่ไว้ทำนาข้าวจำนวน 5 ไร่ เพื่อไว้บริโภคภายในครอบครัว แต่กว่าจะปลูกข้าวได้นั้นต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินอยู่นานพอสมควร เนื่องจากเป็นดินกลุ่ม 40 ที่ดอน หรือพื้นที่ N ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว ต้องมีการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน จนทำให้สามารถปลูกข้าวเพื่อไว้บริโภคในครอบครัว ไม่ต้องไปซื้อข้าวจากที่อื่นเนื่องจากข้าวที่ตนเองปลูกนั้นยังเป็นข้าวอินทรีย์ ปลอดภัยสุขภาพของตนเองอย่างแน่นอน พื้นที่จากที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนพัฒนาที่ดินตาม Zoning By Agri Map ไม่เพียงแต่ปลูกพืชที่สร้างรายได้สู่เกษตรกรแล้วนั้น พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวแห่งนี้ ก็ยังเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้วิถีการทำเกษตรแบบพอเพียง ปลูกพืชต่างๆ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม หากเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้ามาสอบถามเรียนรู้ในแปลงนายปรีชา สารบูรณ์ หมดดินอาสาประจำตำบลก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี พร้อมให้การต้อนรับและบอกต่อองค์ความรู้สู่เพื่อนเกษตรกร