“ศักดิ์สยาม” รับแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชาวบุรีรัมย์ 2 เรื่อง ขอยกเลิกเกาะกลางถนน และขอทำทางลอด มอบกรมทางหลวงพิจารณาใช้แบริเออร์ที่ผลิตจากยางพารา ที่จะรับการจราจรที่มีความเร็ว 120 กม.ต่อชั่วโมงได้ และมีความปลอดภัยสูง แทนการก่อสร้างเกาะกลางถนน เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน พร้อมมอบกรมทางหลวงชนบทให้ปรับแผนการก่อสร้างสะพานข้ามมาเป็นทางลอดแทน เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (18 ส.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 บริเวณจุดกลับรถ กม.128+200 และ กม.129+100 พร้อมรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ต.สวายจีก อ.เมืองบุรีรัมย์ และชาวบ้านจาก ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ประมาณ 100 คน ที่มารอต้อนรับ โครงการก่อสร้างดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากการจราจรบนถนนโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างทางหลวงสายย่อย กับทางหลวงสายหลัก ระหว่างอำเภอกับจังหวัด โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 226, 2445 ไปสนามช้างอารีน่า มีปริมาณการจราจรสูงขึ้น แต่มีขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ ทำให้ประชาชน ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีวันหยุดยาว ซึ่งการก่อสร้างโครงการนี้ จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภูมิภาค การขนส่งสินค้า และผลผลิตทางการเกษตรทำให้สะดวกรวดเร็ว เพิ่มความปลอดภัย และลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โครงการ มีจุดเริ่มต้นที่ ตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ กม.116+500.000 ถึง ตำบลบ้านปรือ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ กม.146+400.000 เป็นทางหลวงมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต (ลาดยาง) แบ่งทิศทางการจราจรด้วยร่องกลาง ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ชาวบ้านตำบลสวายจีก อำเภอเมือง และชาวบ้านตำบลสนวน อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มายื่นเรื่องขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน 2 เรื่อง คือ ขอให้ยกเลิกเกาะกลางถนน และขอให้พิจารณาทำทางลอด เพราะถนนทางหลวงตัดเส้นทางสองตำบลดังกล่าว มักจะเกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ ซึ่งได้มอบกรมทางหลวง ให้พิจารณาใช้แบริเออร์ที่ผลิตจากยางพารามาแปรรูป แล้วออกแบบให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ที่จะรับการจราจรที่มีความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ และมีความปลอดภัยสูง แทนการก่อสร้างเกาะกลางถนน เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน พร้อมมอบหมายกรมทางหลวงชนบทให้ปรับแผนการก่อสร้างสะพานข้ามมาเป็นทางลอดแทน ในปีงบประมาณ 2563