“...อันนี้ถึงบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง หรือ ทฤษฎีใหม่ นี้ ๒ อย่างนี้จะนำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำได้โดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้..." พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ คุณสุนันทา พลโภชน์ผอ.งานประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ชวนไปเยือนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม(วษท.มหาสารคาม)ตามท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ที่ดูแลการศึกษาสายอาชีพไปตรวจเยี่ยมผลงานการจัดการเรียนการสอน เฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นสถานศึกษาสายอาชีพการเกษตรที่น้อมนำเอาหลักแห่งพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้หลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นนโยบายหลักในการจัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพเกษตรกรรมแก่เยาวชนลูกหลานชาวชุมชนท้องถิ่นที่ยึดอาชีพนี้มาแต่บรรพบุรุษผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศ วันนี้ยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกษตรกรที่ทำการเกษตรอยู่แล้วแต่เป็นการทำแบบตามยถากรรมพึ่งฟ้าฝนเป็นหลักได้มาเรียนการทำอาชีพเกษตรกรรมด้วย เรียนอยู่ในพื้นที่ตัวเองนั่นแหละ เพื่อเรียนรู้วิชาการที่จะแก้ปัญหาในทุกด้านทั้งน้ำ ดิน พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ โดยนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ใช้ได้จริงและประหยัด นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตเรียกว่านักศึกษาในโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.)แล้วสอศ.ก็จะให้ใบประกาศเป็นระดับเรียนจบปวช.ทีเดียว ด้วยมุ่งสืบสานพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระวชีรเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านการศึกษาผลิตคนดีมีระเบียบวินัย มีงานทำพึ่งพาตนเองได้ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาบรมนาถบพิตร ภายในรั้ววิทยาลัยนั้นนอกจากส่วนหนึ่งใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารต่างๆ นอกนั้นจะเป็นส่วนที่เป็นแหล่งน้ำ ป่าไม้ที่รวมต้นไม้หลากหลายชนิดพันธุ์ นอกนั้นจะเป็นพื้นที่แปลงการเกษตรไม่ว่าจะเป็นแปลงข้าวโพดที่เน้นข้าวโพดหวานมิใช่เป็นแปลงปลูกธรรมดาแต่เป็นแปลงทดลองที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มสร้างผลผลิตให้เกิดคุณค่าได้ตามต้องการเช่นเพิ่มความหวานได้ดีกว่าที่ปลูกตามยถากรรม ได้ฝักข้าวโพดใหญ่เมล็ดโตสม่ำเสมอไม่ฟันหรอ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเรียนทวิภาคีระหว่างไทย-อิสราเอลไปหาประสบการณ์ด้านพืชศาสตร์ที่อิสราเอล โดยเฉพาะได้นำหลักการระบบน้ำมาประยุกต์ใช้เมื่อเทียบกับระบบน้ำที่ใช้อยู่ในแปลงบ้านเราเวลานี้ถือว่าประหยัดกว่ามาก แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แปลงผักอายุสั้น การปลูกเห็ด แปลงไม้ผล การขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่างๆเช่นการต่อกิ่งเป็นต้นที่นศ.อศ.กช.ทำกันได้ง่ายดายและนิยมชมชอบกันทีเดียวแล้วก็อีกมากมาย ที่ต้องเรียนควบคู่กันไปคือการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องใช้ในแปลงผัก ใช้ป็นนำยาดับกลิ่นอย่างเช่นสารบุกาฉิปุ๋ยอินทรีย์แห้งที่ใช้อีเอ็มกับมูลสัตว์บวกด้วยแกลบ ใบไม้แห้ง รำละเอียดแล้วก็กากน้ำตาลเป็นต้น ที่ขาดไม่ได้ก็คือพื้นเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นแหล่งศึกษาการเลี้ยง การขยายพันธุ์ปศุสัตว์ต่างๆเมื่อนศ.จบไปแล้วก็เอาไปทำอาชีพ ไปแนะนำคนอื่นได้อย่างภาคภูมิใจแล้วก็ยังอีกมากมายต้องไปดูด้วยตาสัมผัสด้วยมือกันเอง อีกจุดหนึ่งคือพื้นที่โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯที่สนับสนุนส่งเสริมกระบวนการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ต้นแบบแปลงพืชผักอินทรีย์ทุกระบบที่นร.นศ.ครูอาจารย์เรียนร่วมกัน เมื่อวันที่14 ส.ค.2562ที่ผ่านมาคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.)เดินทางไปที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคามเพื่อดูผลสัมฤทธิ์และเพื่อสอบถามปัญหาอุปสรรคความต้องการต่างๆพร้อมเป็นขวัญกำลังใจด้วย และได้ลงพื้นที่แปลงเกษตรของกลุ่มนศ.อศ.กช.ซึ่งคือเกษตรกรที่เป็นชาวบ้านและร่วมกันทำแปลงเกษตรตามองค์ความรู้วิชาการที่เรียนไปจากวษท.มหาสารคาม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ดูการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.)มหาสารคาม และ ดูผลการดำเนินของนักศึกษาในโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) ที่บ้านหนองบัวแปะ อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม ได้เห็นความสำเร็จของโครงการ อศ.กช. เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี มีระบบการตลาดที่ดี ด้วยความรู้ประสบการณ์แห่งภูมิปัญญาประสบประสานกัน เฉพาะอย่างหลักการทำเกษตรตามทฤษฎีใหม่แนวพระราชดำริ มีผู้เรียนตั้งแต่อายุ 17 ปี -72 ปี ซึ่งก็ตรงกับนโยบายที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้เปิด วษท.สำหรับคนทุกวัย ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็เรียน วษท.ได้ และเป็นการสร้างเกษตรกรที่จะพัฒนาตนเองนำสู่การพึ่งพาตนเองได้มีความสุข มีรายได้เพิ่มขึ้น ครอบครัวอบอุ่น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีควรขยายโครงการฯต่อไป รมช.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ขอให้ วษท.นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ให้วิทยาลัยและนักศึกษามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน มีจิตอาสาทำงานเพื่อชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ วษท.ทุกแห่ง ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะต้นไม้ท้องถิ่น ต้นไม้ที่มีมูลค่า เช่น พยุง สัก ยาง เป็นต้น รวมถึงรณรงค์ให้นักศึกษา และประชาชน นอกจากปลูกต้นไม้ทั่วไปแล้วก็ควรปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่าตามหัวไร่ ปลายนา หรือแบ่งพื้นที่ 1 ไร่มาปลูกต้นไม้มูลค่า ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคง สร้างรายได้ให้เกษตรกร ได้จับเงินล้านแน่นอน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิชรมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า “ที่วษท.มหาสารคามมีการบริหารจัดการน้ำโดยรู้จักใช้น้ำอย่างมีคุณภาพทั้งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งดิฉันจะให้ วษท.มหาสารคามเป็นต้นแบบและเป็นแกนนำสร้างการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่ให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปีแม้จะอยู่นอกเขตชลประทาน