กลุ่ม ปตท.เร่งลงทุนใช้โอกาสบาทแข็ง-ดอกเบี้ยต่ำ เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 หมื่นล้าน รับกำไรอาจหดกว่าปีที่แล้วจากเศรษฐกิจโลกผันผวน พร้อมปรับแผนรับเทคโนโลยีใหม่ พลังงานทดแทนมีบทบาทสูงขึ้นตั้งเป้าหมายลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด 8 พันเมกะวัตต์ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงร้อยละ 20 ในปี 2573มุ่งสร้างแข็งแกร่ง-เพิ่มศักยภาพ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)เปิดเผยว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า กระทบมายังราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี แม้กลุ่ม ปตท.จะมีการปรับพอร์ตเพื่อรับผลกระทบด้านต่าง ๆ มีการทำแผนลดความเสี่ยง แต่ก็ยังได้รับผลกระทบ โดยยอมรับว่ากำไรปีนี้อาจจะไม่เท่ากับปีที่ 2561 ที่ประมาณ 119,000 ล้านบาท แต่จะไม่ลดต่ำเท่ากับปี 2558 ที่เป็นปีที่ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างรุนแรงที่ปีนั้นมีกำไรอยู่ที่ 199,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากในช่างเงินบาทแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยลดลง จึงเป็นโอกาสที่กลุ่ม ปตท.ซึ่งมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน จึงมีความสามารถในการลงทุนโครงการระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการขยายกำลังกลั่นของไทยออยล์ การขยายกำลังผลิตและโครงการใหม่ๆของ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล โครงการของไออาร์พีซี การลงทุนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) การเพิ่มทุนของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)หรือจีพีเอสซี เมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้นราคาผลิตภัณฑ์กลับมาดี กลุ่ม ปตท.จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ โดยการลงทุนหลักของ ปตท.จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในครึ่งปีหลังของปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เช่น โครงการสถานีนำเข้าแอลเอ็นจีหนองแฟบ เป็นต้น ส่วนโครงการที่ไม่จำเป็น กลุ่ม ปตท.ได้ชะลอการลงทุน พร้อมๆกับเร่งรัดการเพิ่มรายได้จากโครงการที่ลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. การซื้อกิจการโกลว์ของจีพีเอสซี และอื่นๆ โดยผลประกอบไตรมาส 2/2562 ถือว่าตกต่ำที่สุดในปีนี้ คาดครึ่งปีหลังจะดีขึ้น จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น โดยคาดราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยที่ 65-68 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากครึ่งแรกของปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 65ดอลลาร์/บาร์เรล ต่ำกว่าปีที่แล้ว 68 ดอลลาร์/บาร์เรล สำหรับการลงทุนระยะยาวเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน กลุ่ม ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายตามทิศทางตลาดโลกที่ความต้องการพลังงานปฐมภูมิ (Primary Energy) ของโลกจะเติบโตช้าลงหลังปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าในปี 2593 (ค.ศ.2050 )เมื่อเทียบกับปัจจุบัน อย่างไรก็ตามพลังงานฟอสซิลยังคงเป็นพลังงานหลัก ดังนั้นกลุ่ม ปตท.จึงตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ในปี 2573 ลงทุนปรับพอร์ตไปสู่พลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้มีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ทั้งก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power )พลังงานทดแทน รวม ๆ 8,000 เมกะวัตต์ และจะลดพอร์ตลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังศึกษาว่าจะลดการลงทุนด้วยการขายกิจการหรือการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อินโดนีเซีย พร้อม ๆ กับการศึกษการลงทุนที่เน้นไปด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างแพล็ทฟอร์มที่แข่งขันได้ ร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ การลงทุนในธุรกิจพลาสติกชีวภาพตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น ขณะที่การลงทุนโครงการท่าเรือแหหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 คาดว่ารัฐบาลจะอนุมัติไตรมาส 4/2562 และทาง ปตท.จะเริ่มใส่เม็ดเงินลงทุนในปีหน้า ส่วนการกระจายหุ้นของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ ทาง ปตท.ยังตั้งเป้าหมายกระจายหุ้นแน่นอน แต่จะเป็นเมื่อไหร่อย่างไร ก็ขอดูทุกอย่างให้รอบคอบ สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ปตท.และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1,121,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,437 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกับของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 55,250 ล้านบาท ลดลง 14,567 ล้านบาท หรือร้อยละ 21 จากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นปรับลดลง เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเกือบทุกประเภทลดต่ำลง กำไรสตอกน้ำมันที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ รวมถึงกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงเช่นกันจากหลักการของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ราคาขายอ้างอิงราคาปิโตรเคมีปรับลดลง แต่ต้นทุนก๊าซฯ ปรับสูงขึ้น