เส้นทางแห่งอำนาจ สำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะถูกลิขิตมาแล้วว่า เขาเองต้องพาตัวเองเข้าสู่สังเวียนแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งเหตุการณ์ “22 พฤษภา 2557” ด้วยตั้งใจหรือความจำเป็น หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อก้าวเข้ามาแล้ว ชีวิตของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เพียงแต่แปรเปลี่ยนไป จาก “บิ๊กทหาร” มาสู่ “ผู้นำรัฐบาล” เท่านั้น หากแต่ในอีกมิติหนึ่งยังต้องยอมรับว่า บิ๊กตู่ เองได้ศึกษา เรียนรู้ในทางการเมืองด้วยกันไปแล้วหลายบท และไม่ว่าจะเป็นบทบาทที่ ทั้งตัวบิ๊กตู่เอง หรือ “ฝ่ายตรงข้าม” จะพึงพอใจหรือไม่ แต่เมื่อการตัดสินใจกลับเข้าสู่เส้นทางแห่งอำนาจเป็นสมัยที่สอง โอกาสที่จะ “ยอมถอย” เห็นทีจะเป็นเรื่องยาก ขัดใจ “7 พรรคฝ่ายค้าน” ยิ่งนัก เว้นเสียแต่ว่า หากสารพัดปัญหา ศึกใน-ศึกนอก ยังพัวพัน พัลวันไม่สิ้นสุด กลายเป็น “บ่วง” ที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ เองไม่สามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ ยิ่งเดิน ยิ่งชนกำแพง เมื่อนั้นโอกาสที่จะได้เห็นการตัดสินใน “ยกสุดท้าย” ชนิดที่สุ่มเสี่ยง ต้อง “พังทั้งกระดาน” ย่อมมีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ !! เสียงเรียกร้องและแรงกดดันจาก “7 พรรคฝ่ายค้าน” ที่รวมพลังออกแรง “เขย่า” พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในและนอกเวทีสภาผู้แทนราษฎร ด้วยประเด็นอันล่อแหลมและเปราะบาง อย่างกรณีการที่พล.อ.ประยุทธ์ นำครม.ชุดใหม่ “ประยุทธ์2/1” เข้าเฝ้าฯเพื่อถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามมาตรา161 ของรัฐธรรนูญ ที่ระบุว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ฯโดยกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วน จึงทำให้มีการนำมาซึ่งการตีความจากฝ่ายค้านว่า ถ้าเช่นนั้นหากการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนจะถือเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะเท่ากับเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประเด็นดังกล่าวถูกขยายผลออกไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายค้านนำไปตั้งกระทู้สดถามพล.อ.ประยุทธ์ ในสภาฯเพื่อกดดันให้นายกฯต้องมาตอบด้วยตนเอง แต่สุดท้ายแล้วพล.อ.ประยุทธ์ ให้เหตุผลว่าคงไม่ไปตอบกระทู้ในสภาฯ เพราะกรณีดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน แน่นอนว่า การเขย่าพล.อ.ประยุทธ์และครม. ไปจนถึง “พรรคร่วมรัฐบาล” ของฝ่ายค้านต้องเพิ่มความแรงมากขึ้นอีกหลายริกเตอร์ เพราะหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เองยังไม่มีคำตอบว่าจะ “รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” อย่างไร และประการที่สอง เรื่องการถวายสัตย์ ฯ คือเครื่องมือที่จะโจมตีพล.อ.ประยุทธ์ อันมีความเปราะบางไปถึงเบื้องสูง แม้ “เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่” ซึ่งเป็นพรรคที่เคยถูกโจมตีด้วยเรื่องสถาบันเอง ยืนยันว่าพรรคฝ่ายค้านไม่คาดคิดถึงขั้นจะ “ล้มรัฐบาล” ก็ตาม ปมประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องการถวายสัตย์ฯ ในวันนี้ดูเหมือนว่า ยิ่งยืดเยื้อออกไปมากเท่าใด ฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ มีแต่จะเสียหาย ขณะที่ฝ่ายค้านพลิกสถานการณ์กลายเป็นฝ่ายทำแต้มอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ กำลังรอคำตอบสุดท้ายที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่จะทำหน้าที่พิจารณา เมื่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” มีมติส่งความเห็นมาเป็นลำดับต่อไปอยู่นั้น พลัน “ศึกใน” ก็กระแทกซ้ำ จนทำให้รัฐบาล โดยเฉพาะ “พรรคพลังประชารัฐ” หวุดหวิด จะเสียรังวัดเอาดื้อๆ เมื่อเกิดรายการต่อรองจาก “พรรคเล็ก” ที่เข้าร่วมรัฐบาล ร่ำๆจะประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งงานนี้นำทีมเคลื่อนไหวโดย “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่ออกโรงรับบท “หน่วยหน้ากล้าตาย” ทวงเก้าอี้ข้าราชการการเมือง แทนอีก 4พรรคเล็ก แต่สุดท้ายงานนี้จบลงที่ปฏิบัติการลอยแพ พรรคไทยศรีวิไลย์ เพียงพรรคเดียวให้ไปเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ตามที่ลั่นวาจาเอาไว้ เกมต่อรองรอบนี้ว่ากันว่า เป็นการ “ป่วน”กันเองระหว่าง “แกนนำ” ในพลังประชารัฐ ที่ยืมมือ พรรคเล็ก ดันมงคลกิตติ์ ออกมานำหน้า ก่อนเชือดทิ้ง จากนั้นส่ง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ ไปเคลียร์ใจกับ อีก “ 9 พรรคเล็ก” ที่รวมถึง 4 พรรคเล็กซึ่งมงคลกิตติ์ นำมาอ้างถึงในการต่อรอง ก่อนที่สถานการณ์จะพลิกกลับเพียงข้ามคืนว่า “9 พรรคเล็ก” แถลงข่าวประสานมือกับร.อ.ธรรมนัส มือประสานสิบทิศคนเดิม โดยไร้เงามงคลกิตติ์ ที่เสมือนถูกหักหลัง ปล่อยให้ “ตายเดี่ยว” อย่างที่เห็น วันนี้เท่ากับว่า รัฐบาลผสมประกอบด้วย “19 พรรค” มีเสียงในมือทั้งสิ้น 253 เสียงทิ้งห่างจาก “7 พรรคฝ่ายค้าน” เพียง 6เสียง แค่หายใจรดต้นคอกันก็ว่าได้ เพราะฝ่ายค้านมีทั้งสิ้น 247 เสียง ได้เพิ่มไปอีก 1เสียงจากมงคลกิตติ์ ที่ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นั่นหมายความว่า แม้พรรคพลังประชารัฐ จะสยบความวุ่นวายจาก “พรรคเล็ก” ในครั้งนี้ ก็ได้เพียงแค่ “ชั่วคราว” เท่านั้นหรือไม่ ยิ่งเมื่อบทเรียนจาก วันที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวต ในการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 9 เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาผลปรากฎว่า ซีกรัฐบาลแพ้โหวตไปด้วย 205 ต่อ204 กลายเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างความฮือฮา และทำให้ “บิ๊ก” ในรัฐบาล ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กป้อม ถึงขั้น “นั่งไม่ติด” มิหนำซ้ำยังพ่ายโหวตซ้ำสองอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ในการประชุมสภาฯพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 13 โดยที่ประชุมลงมติเสียงข้างมาก 234 เสียง ต่อ 223 !! และนี่เพียงแค่การประชุมพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลยังพ่ายแพ้ และหากในวันข้างหน้า เมื่อร่างกฎหมายการเงิน อย่าง “ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563” เข้าสู่การพิจารณา ใครจะรับประกันได้ว่า การโหวตผ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะไม่เจอกับ “วิกฤติ” และหากเกิดขึ้นจริง นายกฯและครม.ก็ต้องไปกันทั้งคณะ ! ตลอดหลายวันที่ผ่านมาจึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่า ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ต่างลงมามีบทบาท ส่งสัญญาณการบริหารจัดการไปยัง “วิปรัฐบาล” ว่าจะต้องแก้เกม กู้สถานการณ์กันเช่นใด โดยวิปรัฐบาลจะต้องมีการเปลี่ยนวันประชุม มาเป็นวันจันทร์ ก่อนการประชุมครม.ในวันอังคาร เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้ “รับรายงาน” จากวิปรัฐบาล ว่าการเมืองในสภาฯจะเดินไปอย่างไร และครม.จะขยับในทิศทางใด จึงจะสอดคล้อง และปิดจุดอ่อน แก้ปัญหา “เสียปริ่มน้ำ”ให้ได้มากที่สุด ! อย่างไรก็ดี การมีคำสั่งสายตรงไปยังวิปรัฐบาล สั่งให้ส.ส.ซีกรัฐบาลต้องอยู่ใกล้ห้องประชุมสภาฯให้มากที่สุด หรือการที่ซื้อวิทยุรุ่นเก่าเพื่อนำไปวางเอาไว้ตามจุดต่างๆในสภาฯ เพื่อแก้ปัญหาระบบเสียงในสภาฯ หรือแม้แต่การให้รัฐมนตรี เลี่ยงการลงพื้นที่ตรวจราชการในวันที่มีการประชุมสภาฯ นั้นอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหา “เฉพาะหน้า” เท่านั้น ยิ่งเมื่อเวลานี้ ภาวะ เสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล กำลังกลายเป็นเรื่องกวนใจของ “บิ๊ก” ในครม. เช่นนี้โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจะนำไปใช้ “ต่อรอง” เป็นเครื่องมือกดดันพล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ไม่เพียงแต่ปัญหาเสียงปริ่มน้ำ ที่กำลังกลายเป็นเงื่อนไขทำลายรัฐบาลด้วยตัวของมันเองแล้วเท่านั้น แต่ลึกๆแล้ว สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับมือยังมาจากปัญหา “ข้างกาย” จาก “คนกันเอง” ทั้งในพรรคพลังประชารัฐที่เปิดศึกชิงความเป็นใหญ่ หลังจากที่ห้ำหั่นกันมาในยกแรกที่การแย่งโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะแม้แต่ “มือกฎหมาย” ข้างตัวนายกฯเอง กลับมีรายงานว่า วันนี้ระหว่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ กับ “ดิสทัต โหตระกิต” เลขาฯครม.คนใหม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะ “ฟัง” ใครมากกว่ากัน มรสุมที่กลุ้มรุม พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งศึกนอก ศึกใน เช่นนี้ ย่อมไม่เพียงแต่ส่งผลในเชิงการเมืองเท่านั้น หากแต่อย่าลืมว่า วันนี้สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ยังยึดโยงด้วย “ความเชื่อมั่น” ทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการแก้โจทย์ใหญ่ที่ว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรกับปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ในท่ามกลางภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จวนอยู่เจียนไปเช่นนี้ มองกลับมาที่พล.อ.ประยุทธ์ ว่าที่สุดแล้ว ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะเลือกแก้สถานการณ์เช่นใด จะอดทนอยู่ต่อไป แล้วให้ “พรรคเล็ก” ก่อหวอดกดดัน ไปพร้อมๆกับการเดินเกม “เปิดแผล” รัฐบาลทั้งในและนอกสภาฯโดยพรรคฝ่ายค้านที่นำโดย “อนาคตใหม่-เพื่อไทย” ต่อไปเช่นนี้ หรือที่สุดแล้ว บิ๊กตู่ จะเลือกตลบหลัง “นักการเมือง” ด้วยการประกาศ “ยุบสภา” เพื่อ “ล้างไพ่” สำรับนี้กันใหม่ทั้งหมด แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ รู้ดีว่านี่คือ “ไม้ตาย” และอาจเป็น “คำตอบสุดท้าย” ที่จะ “ฆ่า” นักการเมืองทั้งสภาฯ เพราะนาทีนี้ ไม่มีนักการเมืองคนใด จากพรรคใด ที่พร้อมจะลงสนามเพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสกลับเข้าสภาฯ อีกครั้งหรือไม่ !?