นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กเรื่อง'ลุงตู่ควรปิดกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก่อนอื่น!' ความว่า...
“ลุงตู่ควรปิดกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก่อนอื่น!” ข่าวระบุว่า “นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ 10 ราย ประมาณ 100 แปลง ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายคือ 12 จังหวัด ประกอบด้วย เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สตูล ส่วนของอัคราฯ มีคำขอต่ออายุประทานบัตร 1 แปลง อาชญาบัตรสำรวจแร่อีกหลายสิบแปลง และคำขอต่อใบประกอบโรงโลหกรรมอีก 1 แห่ง แต่ทั้งหมดยังไม่ได้มีการอนุมติใบอนุญาตใดๆ "หากอัคราฯ ยังคงต้องการดำเนินประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องยื่นคำขอใหม่ แต่จะต้องนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ใหม่ที่กำหนดไว้เท่านั้น" นายวิษณุกล่าว” จนถึงทุกวันนี้ ทีมของลุงตู่ยังไม่เข้าใจอีกหรือ ว่า สภาพภูมิศาสตร์ของไทยนั้น แตกต่างในสาระสำคัญจากประเทศอื่นที่ทำธุรกิจเหมืองแร่ ประเทศที่ทำเหมืองแร่สะดวก คือเหมืองที่ตั้งอยู่ห่างไกลชุมชน เช่น ในหุบเขา ในป่า ในทะเลทราย เพราะอยู่ห่างชุมชนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ สายแร่ในหลายประเทศ ลึกลงไปใต้ดิน พื้นที่เปิดหน้าดินแคบ ความเสี่ยงสารเคมีรั่วไหลมีน้อยกว่า แต่กรณีประเทศไทยทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าเหมืองอยู่ประชิดชุมชน ความเสี่ยงสารเคมีรั่วไหลกระจายไปกระทบชุมชน จึงย่อมสูงกว่าประเทศอื่น นอกจากนี้ ในพื้นที่หลายจุด สายแร่อยู่ระดับตื้น แต่กระจายกว้าง ทำให้ต้องเปิดหน้าดินใหญ่กว่าประเทศอื่น สารเคมีมีโอกาสฟุ้งกระจายไปตามแรงลม และตามน้ำฝนมากกว่าประเทศอื่น สุดท้าย ไทยเป็นประเทศที่เน้นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ถ้าปล่อยให้ความเสี่ยงจากเหมืองกระทบความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตร ก็นับว่า ได้ไม่คุ้มเสีย และยังจะมีปัญหาความเสี่ยงต่อสุขภาพชาวบ้านอีกด้วย ค่าภาคหลวงและรายได้รัฐไม่คุ้มกับปัญหาอย่างแน่นอน