ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “เหนือภูมิศาสตร์แห่งความรู้สึกนึกคิดของกวี...ล้วนเต็มไปด้วยฝูงนก” “รากเหง้าทางความคิดฝันของคนเรา ล้วนอุบัติขึ้นจากสัญชาตญาณด้านลึกแห่งประสบการณ์อันฝังลึก มันคือสัดส่วนของจิตวิญญาณแห่งการหยั่งเห็น สัมผัสรู้อันเหนือคาดคิด รวมทั้งแก่นสารแห่งความเป็นสามัญอันสัตย์ซื่อ ทั้งหมดคือชีวิตด้านหนึ่งของความเป็นกวี และบทสะท้อนอันหลากหลายไปด้วยปัญญาญาณในความเป็นบทกวี/วิถีแห่งการรู้แจ้งอันเป็นนัยส่วนตัวข้างต้น คือความหมายสำคัญในปรากฏการณ์แห่งการก่อเกิดรูปรอยแห่งภาษาใจอันวิจิตร บนพื้นฐานแห่งการสร้างสรรค์ที่ตั้งอยู่เหนือการควบคุมของชีวิต/หลายๆเรื่องราวในเหตุที่เกิดขึ้นล้วนเปี่ยมเต็มไปด้วยอารมณ์แห่งอารมณ์ และอีกหลายๆส่วนมันคือภาพหวังของความคิดหวัง...เช่นเดียวกับว่าในบางเสี้ยวขณะแห่งโลกของประพันธกรรม มันคือความไร้สาระอันสุดโต่งที่ชีวิตได้สร้างขึ้นมาระหว่างและท่ามกลางการหมุนรอบของลมหายใจอันติดขัด/เปราะบางในการรับรู้ สั่นไหวในความรู้สึก และกราดเกรี้ยวในสัมพันธภาพอันมืดบอด/ทั้งหมดคือรสชาติที่ไขว้สลับกันอยู่ในความระเกะระกะแห่งการดำรงอยู่/ที่เราทั้งหลายในฐานะเหยื่อล่อแห่งชะตากรรมของโลกวันนี้จักต้องยอมรับมันให้จงได้” นัยความคิดจากการสัมผัสรู้ดั่งนี้..คือกลิ่นอายที่ได้จากผัสสะแห่งอารมณ์ร่วมในวิถีแห่งรวมบทกวีชุดใหม่ของกวีผู้เป็นนักคิดแห่งยุคสมัย ในสายตาแห่งการเฝ้ามองการปรวนแปรของโลกที่ตกอยู่กับฝันร้ายที่ไม่อาจหลบเลี่ยง “ศิริวร แก้วกาญจน์” ..ในนามของรวมบทกวี “ฝันของฝูงกระต่าย” (The Rabbits’ dreams)...ที่มุ่งถามถึงความชอบธรรมอันจริงแท้ของโลกแห่งการมีชีวิตอยู่ผ่านประสบการณ์อันซ้ำซากในประสบการณ์ที่ทั้งเคลือบแคลงและไร้หวังของยุคสมัย “มีไหม?ระบบการปกครองแบบไหน?/มีไหม?นักปกครองคนไหน?ไม่ใช้ชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนพลเมือง/สังเวยบูชายัญอำนาจ/และผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง/นี่เป็นเป็นเรื่องเก่าแก่มาก/และมันก็เป็นเรื่องร่วมสมัยอยู่เสมอเช่นเดียวกัน?/อีกกี่ศตวรรษผลัดผ่าน/หรือระบบการปกครองแบบไหน/ไม่สำคัญเท่าเรามีนักปกครองแบบไหน?/กี่ศตวรรษผลัดผ่าน...เรายังคงเร่ร่อน/ภายใต้หลังคาบ้านหลังสุดท้ายของเราเอง”/ ...คำถามแห่งแผ่นดินบทนี้คือน้ำคำที่แทงใจดำต่อภาวะ การปกครองของโลกอันวิปริต/ภาวะของฉากจำลองอันโสมมและคุ้นชินของเนื้อแท้ทางการเมืองที่เหลวแหลกและถูกเบิกประจานให้ได้อายอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า/แต่บรรดาผู้ที่อยู่กับโลกอันวิกฤตด้านนี้กลับด้านชาต่อจิตสำนึกทางคุณธรรมจนเปิดแผลกว้างให้โลกต้องแบกรับสัมผัสอันชั่วช้านี้อย่างไร้อนาคต../มันคือสะเก็ดระเบิดชองความไม่ชอบธรรมที่สร้างหายนะให้เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ/..ภาพสะท้อนของ “ศิริวร” ตรงประเด็นนี้ถูกขยายออกไปสู่เรื่องราวบางเรื่องราวที่เหลือเชื่อ แต่มันกลับคือส่วนเปรียบเปรยของความเสมอภาคที่ยากจะเกิดขึ้น..ณ ส่วนแห่งความจริงอันเป็นเหตุและผลของโลกวันนี้... “วันนี้...โลกได้ดูการโยนเกย์คนหนึ่งลงจากสวรรค์ชั้น7ของพระเจ้า/โชคดีที่เขารอดชีวิต/โชคร้ายที่เขาถูกรุมปาหินซ้ำจนตาย(นักเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคและความเท่าเทียมกะพริบตาในวินาทีนั้นพอดี)/นั่นคือส่วนขยายในการรับรู้ปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยของการทุบทำลายตัวตนแห่งกันและกันด้วยพื้นฐานของอำนาจที่หวดกระหน่ำใส่ผู้ถูกกระทำที่อ่อนแอ...” เมื่อวาน...โลกเพิ่งชมเทศกาลฆ่าตัดคอ/ของนักรบผู้พลางตนด้วยการคลุมหน้า/แบบเดียวกับการคลุมฮิญาบของมุสลิมะห์/ในยูทูป(นักเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคและความเท่าเทียมกะพริบตาในวินาทีนั้นพอดี “../สาระแห่งบทตอนนี้คือการถ่ายทอด ห้วงขณะอันโหดร้ายอย่างหลีกเร้นศีลธรรมในการอยู่รวมกันอย่างสันติ/...หัวใจของบทกวีในส่วนนี้จึงคือน้ำเสียงของการวิพากษ์กฎกติกาของอารยะธรรมที่ถูกหยามเหยียดจนขาดวิ่นไปต่อหน้า...” อย่าถามว่า...นี่คือกติกาแห่งอารยะธรรมหรือลัทธิเถื่อนถ้ำแห่งอนารยะ?...ขอสันติจงมี” อย่างไรก็ดี...ในสภาวะที่โลกทั้งโลกต่างเติบโตและถูกครอบคลุมไปด้วยวิถีไร้พรมแดน...ดูเหมือนว่าคนทั้งโลกต่างแตกตื่นกับภาวะอันยากจะควบคุมนี้..กระทั่งต่างพากันเชื่อมั่นโดยสำคัญผิดว่า..การได้รับข่าวสารข้อมูลอย่างล้นทะลัก จนเกิดอาการสำลักเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความเจริญที่ก้าวหน้าจนเลยเถิดไปกันว่าภาวะดังกล่าวนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้../แต่แล้วความเป็นจริงแห่งปรากฏการณ์ที่หลงผิดนั้นก็เปิดเผยข้อมูลอันจริงแท้ออกมาว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปในทางตรงข้าม../” เราเชื่อมโยงโลกทั้งโลกด้วยปลายนิ้ว/เราดึงความห่างไกลเข้ามาใกล้ใกล้/เราผลักใสความใกล้ให้กว้างออกไปสุดขอบดาราจักร/เราไม่อยากรับรู้ว่า...คนที่นั่งใกล้ใกล้เรามีดวงหน้าดวงตาสีใด/โลกทั้งโลกเลื่อนไหลอยู่ตรงหน้า/เราจะไม่โดดเดี่ยวเดียวดายอีกต่อไป/เราจะไม่พัดหลงจากกันแม้วินาทีเดียว...จริงจริงหรือ?/คำถามของความมาดหมายดังกล่าวนี้ถูกโยนออกมาสู่โลกของความจริง...เราสมควรจะตอบคำถามนี้อย่างไรดี ...ก็ในเมื่อชีวิตส่วนใหญ่ต่างตกอยู่กับความสับสน กดดัน และอ้างว้าง เหมือนการล่องลอยอยู่ท่ามกลางความคลุมเครือที่มืดมน..หาความชัดเจนอะไรไม่ได้โดยเฉพาะนิยามแห่งความปรารถนาของมนุษย์ที่ไม่แน่ใจและรู้ว่าจริงๆแล้วตนต้องการอะไร?..และกำลังจะก้าวย่างไปทางไหน?/...ในวิกฤติแห่งความพะว้าพะวังนี้... “ศิริวร” ได้สื่อสารสถานะแห่งความเป็นจริงที่ควรจะเป็นในนัยของชีวิตอันน่าขลาดกลัวตรงนี้ออกมาว่า... “ความจริงมีเพียงชุดเดียว/แต่ความลวงมีมากมายหลายชุด/..ยังมีคนพยายามตะโกนหาความจริง ที่ถูกช่วงชิงไปจากประเทศ..แต่ไม่มีใครคิดทวงถามความจริงที่ช่วงชิงชีวิตคุณ/ตอนมีชีวิตอยู่...คุณพยายามตะโกนหาความจริง/ที่คุณเชื่อถูกขโมยไปจากดวงตาประชาชน” ....บทกวีในภาพรวมของ “ศิริวร” ในชุดนี้เปรียบดั่งพันธะสัญญาอันยอกย้อนของชีวิต/พันธะสัญญาที่ทวงถามว่า...คนเราแต่ละคนมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ในรูปแบบใดกันแน่...?/และจุดหมายพิเศษในชีวิตที่ต้องการได้รับและสัมผัสขณะที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้คือสิ่งใด?/... “อารยะธรรมและการสร้างสรรค์คือ..ทำให้เรือมากลำไม่ได้ทำมาจากต้นไม้/ศิลปกรรมมากมายมีชีวิตชีวา โดยไม่ต้องเข่นฆ่าคร่าชีวิต/...ไม้ทุกต้นไม่ได้ฝันอยากกลายร่างเป็นเรือ/เรือทุกลำไม่ได้ฝันอยากเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง/อนุสาวรีย์ไม่ใช่การขโมยชีวิตและเลือดเนื้อของวีรขน/...ไม้ทุกต้นไม่ได้ฝันอยากเป็นเรือ” ...อาจกล่าวได้ว่ารวมบทกวีชุดนี้...จะทำให้ผู้อ่านต้องทำงานหนักในการอ่านเพื่อแปลความมันออกมาสู่ผัสสะแห่งความหยั่งรู้ทั้งภายในและภายนอก/เป็นสัดส่วนแห่งการเรียนรู้ รับรู้ และรู้สึก ผ่านสำนึกแห่งการตีความ/ผลรวมของรวมบทกวีชุดนี้จะสนองตอบต่อการรับรู้ของผู้ที่สัมผัส ให้ได้ใคร่ครวญต่อภาพรวมของโลกแห่งชีวิตว่า..สมควรเป็นเช่นไรและตัวตนในแต่ละตัวตนนั้นปรารถนาที่จะทำอะไร?../ทั้งนี้เพราะสรรพสิ่งแห่งปรารถนานั้นย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จักต้องให้ความจริงกับความกระตือรือร้น..แก่ผู้อื่น...ความจริงใจและความมุ่งมั่น/ปรารถนาในลักษณะเช่นนี้จึงถือได้ว่าเป็นภาระที่หน่วงหนัก/ไม่ว่ามันจะตกอยู่ในเงื้อมเงาของความจริงหรือความฝัน..หรือ.แม้กระทั่งการปลอมปนหรือปลอมแปลงใดๆก็ตาม.... “ทุกครั้งที่ข้าได้ยิน ท่านเพ้อพร่ำ ปลอมแปลงแสงสว่าง../ข้าเห็น ท่านว่ายวน และค่อยค่อยดิ่งจม ลงสู่เวิ้งมหาสมุทรแห่งความมืด”/...ท้ายที่สุด...อะไรคือนัยแห่ง” ความฝันของฝูงกระต่าย”มันถูกเลือกใช้เพื่อเทียบแทนหัวใจแห่งความหมายของสิ่งใด?/ในเมื่อความฝันย่อมคือสิ่งที่ เลื่อนไหลไปตามห้วงภวังค์/แต่สำหรับฝูงกระต่ายมันเปรียบดั่ง ผู้ที่ใช้ชีวิตว่ายวนและโลดเต้นอยู่ในความมืดด้วยสัญชาตญาณแห่งความอ่อนไหวเปราะบางและด้วยความกราดเกรี้ยว ดุร้ายระคนกัน/บุคลิกอันเชื่อมโยงถึงกันด้วยความแปลกต่างเช่นนี้/ก่อให้เกิดความแปลกแยกต่อการอยู่ร่วมของชีวิตอย่างสุดโต่ง/มันคือละครบทเศร้าแห่งชีวิตของโลกกว้าง ณ วันนี้ที่ตกอยู่กับความมืดดำแม้ในยามสว่างไสว/และตกอยู่กับความสิ้นศรัทธาและไร้หวังในขณะที่ชีวิตที่แท้จริง..ต้องถูกผลักไสให้คว่ำจมอยู่กับหลุมศพแห่งความหดหู่ของตัวเอง/โลกทั้งโลกเป็นเช่นนี้ และชีวิตเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลก็เป็นดั่งนี้/...มีชีวิตที่ตื่นกลัวและหวาดระแวงท่ามกลางผืนป่าที่เต็มไปด้วยโซ่ตรวนแห่งอคติและการจองจำ/... “หนทางไกลสู่เสรีภาพ คือความกล้าหาญที่ถูกจองจำ/เพื่อให้ข้อเท้าอื่นอื่น เป็นอิสระจากโซ่ตรวน”/..”ฝันของฝูงกระต่าย”ถูกจัดวางไว้เป็นสี่ภาค...ตามเงื่อนไขแห่งสาระเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง... ผ่านการออกแบบในรูปรอยแห่งความคิดที่อิงอยู่กับเงื่อนปมของภาวการณ์/ชนเผ่าเร่ร่อนในโลกออนไลน์/ฝันของฝูงกระต่าย/กาแฟและหนังสือ/ต้นไม้อยากกลายเป็นเรือ/ทั้งหมดล้วนคือประเด็นทางความคิดที่ถูกแตกขยายย่อยออกเป็นบทกวีด้วยนัยเรื่องราวต่างๆกว่า130 บท/เป็นการสร้างสรรค์ทางความคิดดั่งการประกอบสร้างของสายธารแห่งความจริงและความฝัน/ทั้งหมดคืออาการไหวเคลื่อนที่เจ็บปวด/มันคือภาพซ้อนแห่งผลลัพธ์ที่หวังถึงว่า...จะสามารถ... “ปลุกปลอบกันและกัน/จนกว่าแต่ละวันจะผ่านล่วง/บ้างล้มหายวายวับ ดับหวังทั้งปวง/ที่ยังอยู่ก็ดูดวง ช่วงชิงดาว/เราทั้งน่ารักและน่าชัง/อวยพรให้สมหวังกับทุกสิ่ง/แต่ก็รักนรกการฉกชิง/ความจริง ความหวังทุกครั้งไป” .... “ศิริวร” ยังคงปั้นแต่งบทกวีของเขาด้วยภาพรวมของความจริงจังและอิ่มเต็มผ่านความงามและความหมายที่สื่อถึงรหัสนัยแห่งชีวิต/บทกวีในแต่ละบทมีฉากแสดงที่แจ้งชัดทั้งในแง่ชาติพันธุ์อันย้อนแย้ง/ความสัมพันธ์อันพร่ามัว/มายาจริตที่โหมกระหน่ำ และอีกทั้งยังมีทาบเงาทางความคิดที่สามารถปลุกตื่นเจตจำนงของผู้อ่านให้บรรลุถึงแก่นแกนแห่งจุดยืนทางวรรณกรรมอย่างมั่นคงยิ่ง/...”โลกโคจรเคลื่อนไหวในความต่าง/มีด้านมืดด้านสว่างให้ค้นหา/หากชิงชังอย่าชิงชังจนชินชา/หากจะรักอย่าคลั่งบ้าปิดตารัก”/มั่นคงต่อจุดยืนและความคิด/ไม่ปลอมแปลงแสร้งจริต ไม่ฝืดฝืน/แค่เข้าใจความมืดดำของค่ำคืน/ใครจะตื่น ใครจะดับ นับดาวใด” ...นี่คือรวมบทกวีที่ตั้งอยู่กับน้ำคำที่หน่วงหนักในการสื่อสาร/ความงามแห่งบริบทของนัยความหมายโดยรวมทั้งหมดอยู่ตรงส่วนนี้/เป็นไปได้ไหมที่จะลดทอนบางบทตอนลงในส่วนขยายของรวมบทกวีชุดนี้ลงได้?/แต่ก็ไม่แน่ใจว่า...หากเป็นเช่นนั้นความเป็นหนึ่งแห่งรวมบทกวีชุดนี้จะแปรเปลี่ยนไปสู่รูปลักษณ์ใด?กันแน่/เหตุนี้ความจริงและความหมายของ”กระต่ายฝูงนี้กับความฝันของพวกเขา” จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพในการสอดผสานของผู้อ่านต่อปริศนาทางสาระความคิดแห่งบทกวีบทต่างๆด้วยหัวใจหยั่งรู้ของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ/...เคยมีผู้กล่าวว่า..หากใครก็ตามฝันเห็นฝูงกระต่าย...นั่นหมายถึงว่า..”ท่านจะได้พบกับมิตรสหายที่อยู่ต่างถิ่นต่างแดน พวกเขาจะนำโชคลาภมาให้/แต่ต้องระมัดระวังอารมณ์ของคุณให้ดี/เพราะมันจะนำความเลวร้ายมาสู่ชีวิตของคุณ”/...วิถีแห่งฝูงกระต่ายในความฝันเป็นเช่นนี้...แต่หากในความเป็นจริงนั่นเล่า...มันก็คือหนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติที่มีนัยความหมายที่ตั้งอยู่เหนือความรู้สึกนึกคิดอันเป็นสามัญ...สมมติโดยแท้ “เหนือภูมิศาสตร์แห่งความรู้สึกนึกคิดของกวี...ล้วนเต็มไปด้วย...ฝูงนก”