แกนนำยาง 16 จว.ใต้ หนุน รมว.เกษตรฯ ประกันยางแผ่นดิบชั้นสาม 60 บาท ร้องรัฐบาลจ่ายชดเชยเกษตรกรสวนยางชายขอบกว่า 3 แสนราย ปลูกยางในที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 5 ล้านไร่ ด้าน กยท. ส่งงบประกันรายได้ใช้เงิน 3.5-7 หมื่นล้านบาท จ่ายส่วนต่างกก.ละ 10-20 บาท รายละ 10-25 ไร่ ระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้รัฐบาลทำโครงการประกันรายได้ยางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท ต้องอ้างอิงราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 แต่ต้องให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์(บัตรสีชมพู) ซึ่งได้ขึ้นข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 300,000 ราย พื้นที่ 5 ล้านไร่ได้เข้าร่วมโครงการด้วย เพราะชาวสวนชายขอบเหล่านี้จ่ายค่าธรรมเนียมส่งออก(cess) ด้วยเช่นกัน แต่ไม่เคยได้รับการดูแลจากการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) อีกประการชาวสวนยางชายขอบกลุ่มนี้กล้าแสดงตัวเพราะแม้สวนยางจะอยู่ในเขตพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ภายใต้มติ ครม.26 พ.ย.2561 ที่กำลังได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย ส่วนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้น นอกเหนือจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโครงการประกันรายได้ และการแก้ปัญหาระยะกลางด้วยการทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศแล้วประเทศไทยควรทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะการประกาศวาระแห่งชาติว่าด้วยการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางของโลก (HUB) ต้องทำให้รับเบอร์ซิตี้เป็นจริง จึงจะแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้ ที่สำคัญต้องทำคู่ขนานกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน เพื่อเพิ่มพื้นที่สวนยางยั่งยืนให้ได้อย่างน้อย 30 % จากพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 8 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุน สร้างเสริมรายได้ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวสวนยาง สวนยางยั่งยืนจะเป็นเครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพราคายางได้จริง ถือเป็นการประกาศอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาวสวนยาง เพื่อหลุดพ้นจากกับดักกลไกราคาและตลาดที่ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าชาวสวนยางยั่งยืนทั้ง 8 ล้านไร่ ประกาศหยุดกรีดพร้อมกัน จะทำให้ซับพลายยางหายไปจากตลาดโลก 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตต้นน้ำเป็นผู้กำหนดราคา แต่ทั้งนี้ต้องทำไปพร้อมกับเพิ่มการแปรรูปยางในประเทศให้ได้เกินกว่า 35 % ของผลผลิตยาง 5 ล้านตันต่อปี ส่วนเรื่องการใช้กลไกของเวทีไตรภาคียางพารา รัฐบาลก็จำเป็นต้องทำยุทธศาสตร์แนวร่วม แต่ก็น่าเป็นห่วงเรื่องมาเลเซียที่แปรสภาพจากผู้ผลิตยางมาเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทยปีละประมาณ 700,000 ตัน ดังนั้น รัฐบาลควรใช้สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน ที่ประเทศจีนถูกตั้งกำแพงภาษีส่งออกถึง 25 % ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ยางด้วย ให้ตัวแทนการค้าของรัฐบาลไทยเร่งเจรจากับประเทศจีนเพื่อเชิญชวนให้มาตั้งโรงงานทำอุตสาหกรรมยางในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางของโลกได้จริง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถชี้นำราคายางของโลก ในการต่อสู้กับตลาดล่วงหน้าได้จริง และยังเป็นการรักษาเสถียรภาพราคายางในประเทศไทย ให้เกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยาง ด้านแหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ได้เสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯถึงรูปแบบคำนวนการใช้งบประมาณในโครงการประกันรายได้เกษตกรสวนยาง ที่กิโลกรัมละ60บาท เป็นยางแผ่นดิบชั้นสาม วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท จำนวนเกษตรกร 1.1 ล้านรายๆละไม่เกิน25ไร่ ในเวลา 6เดือน หาก1ปีจะใช้7หมื่นล้านบาท แต่ถ้าไม่เกินรายละ 10 ไร่ ระยะ 1 ปี ใช้งบ 5-6 หมื่นล้านบาท ถ้าช่วยชดเชยส่วนต่างกิโลกรัมละ10บาท ทั้งปีใช้งบ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือ 20 บาท ใช้เวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตามจำนวนเกษตรกรชาวสวนยาง ยังไม่นิ่งเพราะเกษตรกรสวนยางถือบัตรสีชมพู ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ กำลังเจรจาขอให้รมว.เกษตรฯช่วยกลุ่มนี้ด้วยกว่า3แสนราย “จะตั้งราคายางแผ่นดิบชั้นสามที่60บาทต่อกก.เป็นเกณฑ์ชดเชยราคา และประเมินราคาน้ำยางดิบที่ 58บาท ยางก้อนถ้วย 50บาท ซึ่งวันที่ 21 ส.ค.นี้ประชุมคณะทำงานประกันรายได้เกษตรกร และประชุมร่วมกับเอกชน พ่อค้ายาง ไม่ให้กดราคาซื้อจากเกษตรกร โดยใช้พรบ.ควบคุมยาง ปี42 หลังจากนั้นประชุม 3ฝ่ายทั้งเอกชน รัฐบาล ตัวแทนเกษตรกร หารือกันสรุปรายละเอียด ส่งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)และส่งกรอบงบประมาณเข้าครม.ภายในเดือนนี้ รวมทั้งให้ครม.เห็นชอบงบประมาณในมาตรการใช้ยางในประเทศ1ล้านตัน ทุกมาตรการต้องทำทั้งหมดผลักดันราคาตลาดขึ้นไปให้ได้ คำพูดของรมว.เกษตรฯว่าต้องเริ่มทำทั้งโครงการประกันรายได้ และโครงการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ไปพร้อมๆกัน เช่นทำถนนยางทุกชุมชนทั่วประเทศ ทำอุปกรณ์ทางถนน เพื่อกระตุ้นตลาดให้ผู้รับเหมา พ่อค้า เข้ามาหาซื้อยางดึงปริมาณยางหายออกจากตลาดไปด้วย ถ้าไม่ทำสองอย่างควบคู่กันจะทำประกันรายได้ เพียงอย่างเดียว จะเหมือนโครงการจำนำข้าว ไม่ยั่งยืนเพราะหมดโครงการก็ถูกพ่อค้ากดราคา “แหล่งข่าว กล่าว