กรมอนามัยแนะวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะ 2 กลุ่มเสี่ยงต้องคอยกำกับขณะกิน ทั้งแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีชายวัย 52 ปี กินขนมเทียนแล้วติดคอ ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตว่า อาจมีสาเหตุมาจากไม่เคี้ยวให้ละเอียดก่อน จึงติดคอและปิดกั้นหลอดลมจนขาดอากาศหายใจได้ เพราะขนมเทียนจะนิ่มแต่เหนียว อาจมีปัญหาในการกลืน โดยเฉพาะผู้สูงวัยซึ่งจะมีอาการปากแห้ง การสร้างน้ำลายน้อยลง การที่ไม่มีฟันและกำลังบดเคี้ยวลดลง ทำให้ต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารนานยิ่งขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงสำลักอาหาร รวมทั้งคอหอยปิดช้ากว่าคนหนุ่มสาว ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้น ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารมากขึ้นเช่นกัน และด้านการหายใจผู้สูงอายุต้องหยุดหายใจขณะกลืนจะเกิดขึ้นเร็วและนานขึ้น โดยเริ่มหยุดหายใจตั้งแต่หายใจเข้าทำให้เมื่อกลืนอาหารแล้วต้องรีบหายใจทันที จึงมีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากกลืนอาหาร ทำให้มีโอกาสที่จะสำลักได้ง่าย ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงอายุรวมถึงเด็กเล็กพ่อแม่ ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด โดยวิธีปฏิบัติคือ นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร หลังกินเสร็จห้ามนอนทันที, กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด, อย่ากินขณะเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที, อาหารที่กินควรแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ, ลดสิ่งรบกวนขณะกิน เช่น พูดคุย เดิน, กินอาหารคำละ1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย, ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว และอย่ากินอาหารแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วย อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ในกรณีอาหารติดคอให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากผู้ป่วยหายใจไม่ได้พูดไม่ออก ให้รีบจับนอนหงายบนพื้น และเปิดทางเดินหายใจ ยกปลายคางขึ้น และอีกมือหนึ่งกดหน้าผากลง เป่าปากเพื่อช่วยหายใจ ถ้าลองเป่าปากแล้วหน้าอกไม่ยกขึ้น ให้ใช้มือกดที่ท้อง ในท่านอนหงาย 6 – 10 ครั้ง แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กให้ใช้วิธีตบระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง สลับกับกดหน้าอก และคอยตรวจเช็คช่องปาก ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมให้ใช้นิ้วเกี่ยวออกมา และหากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว พูดได้และหายใจได้ตามปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที