รมว.เกษตรฯ เร่งแก้แล้งท่วมสงขลา จี้กรมชลฯ เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำคลองร.1 แล้วเสร็จทันรับมือฤดูมรสุมของภาคใต้ปีนี้ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามการบริหารจัดการน้ำ และตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาว่า จากการที่ อ.หาดใหญ่ ได้เคยเกิดปัญหาอุทกภัยและสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานจึงได้มีการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา มีการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาเป็น 3 แนวทาง คือ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 จากเดิมระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที 2) การสกัดน้ำไม่ให้เข้าเมือง โดยการขุดคลองสายใหม่เพื่อตัดยอดน้ำก่อนไหลเข้าเมือง มีอัตราการระบาย 2,000 ลบ.ม./วินาที และ 3) การตัดยอดน้ำ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 5 แห่ง ความจุรวม 120 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ในระยะเร่งด่วน กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวทางที่ 1 ซึ่งเมื่อรวมกับการระบายน้ำของคลองอู่ตะเภา ทำให้สามารถระบายน้ำได้รวม 1,665 ลบ.ม./วินาที อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 และเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ในช่วงมรสุมที่ใกล้จะถึงนี้ ทางกรมชลประทานคาดว่าคลองระบายน้ำ ร.1 จะสามารถระบายน้ำได้ประมาณล 1,000 ลบ.ม./วินาที ถ้าฝนตกไม่เกิน 200 มิลลิเมตร ก็จะสามารถรับมือต่อสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดโครงการที่ยังไม่เรียบร้อย ให้ดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด สำหรับการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของจังหวัดสงขลา ได้มีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การณ์อุทกภัย โดยการตรวจสอบความพร้อมใช้งานอาคารชลประทานขนาดกลางในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดวัชพืชในคลองชลประทาน คลองธรรมชาติและในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ตามแผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังได้มีแผนเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุและป้องกันอุทกภัยใน 4 จังหวัด คือ 1) จ.ตรัง มีพื้นที่เฝ้าระวัง 3 จุด มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 10 เครื่อง 2) จ.พัทลุง มีพื้นที่เฝ้าระวัง 4 จุด มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ 14 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 28 เครื่อง 3) จ.สตูล มีพื้นที่เฝ้าระวัง 6 จุด มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง และ 4) จ.สงขลา มีพื้นที่เฝ้าระวัง 3 จุด มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ 64 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 77 เครื่อง ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 16 ได้มีการจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ไว้ที่ศูนย์กลางที่จังหวัดขลา ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ 186 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 100 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 50 เครื่อง รถขุด 35 คัน รถแทรกเตอร์ 1 คัน รถบรรทุกและยานพาหนะ 32 คัน สะพานเหล็กชนิดถอดประกอบได้ยาว 44 เมตร 1 ชุด โดยสามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือในพื้นที่วิกฤตได้ภายใน 2 ชั่วโมง ด้าน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ระยะที่ 2 หัวงานตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านหน้าควน เทศบาลเมืองควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ครอบคลุมเขตพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ในตำบลหาดใหญ่ ตำบลควนลัง อำเภอบางกล่ำ ตำบลบ้านหาร ตำบลท่าช้าง ตำบลบางกล่ำ อำเภอควนเนียงในตำบลบางเหรียง ซึ่งจะปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 ความยาว 21.343 กิโลเมตร จากเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้สามารถระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน แห่งที่ 2 จำนวน 3 ช่อง ก่อสร้างประตูระบายน้ำบางหยี แห่งที่ 2 จำนวน 8 ช่อง และก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมด้วยเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง โดยมีอัตราการสูบน้ำรวม 90 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาโครงการ 6 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 6,500 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินงานก่อสร้างไปแล้ว 60.25 % ซึ่งล่าช้ากว่าแผน กรมชลประทานได้แบ่งทำสัญญาการก่อสร้างเป็น 4 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 ว่าจ้างบมจ. สยามพันธุ์ ขุดคลองยาว 3.578 กิโลเมตร วงเงิน 1,346 ล้านบาท ระยะเวลา ตั้งแต่ 4 มิถุนายน 58-13 เมษายน 62 แต่งงานช้ากว่าแผน 30.46% ปัจจุบันได้บอกเลิกสัญญาผู้รับจ้างแล้วเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 สัญญาที่ 2 ว่าจ้าง บมจ.สยามพันธุ์ฯ ขุดคลอง ยาว 4.2 กิโลเมตร วงเงิน 859 ล้านบาท ระยะเวลา18 พฤษภาตม 59-30 สิงหาคม 62 งานช้ากว่าแผน 34.04% สัญญาที่ 3 ว่าจ้างบจก. เพิ่มพูนวิศวกรรมยาว 5.1 กม วงเงิน 798.195 ล้านบาท ระยะเวลา 12 พฤษภาคม 59-24 สิงหาคม 62 งานล่าช้ากว่าแผน 16.55% และสัญญาที่ 4 ว่าจ้างบจก.ชัยเจริญไมตรี ขุดคลองยาว 4.619 กม วงเงิน 709 ล้านบาท ระยะ 18 พฤษภาคม 59-30 สิงหาคม 62 ล่าช้ากว่าแผน 43.99% ปัญหาความล่าช้าเกิดจาก การที่ผู้รับจ้างนำเครื่องมือเครื่องจักรมาใช้ไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ คณะกรรมการตรวจการจ้างได้มีหนังสือเร่งรัดถึงผู้รับจ้างให้เร่งรัดการปฏิบัติงานและได้เชิญประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง