ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กเรื่อง ' ถมทะเล-ทำโรงงานปิโตรเคมี-เพื่อประชาชนหรือเพื่อกระเป๋าใคร?' ความว่า...
“ถมทะเล-ทำโรงงานปิโตรเคมี-เพื่อประชาชนหรือเพื่อกระเป๋าใคร?” “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าสถานทูตสหรัฐเข้าพบ ยืนยันถึงแผนการลงทุนของ บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น ต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่า 330,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม พื้นที่รองรับการลงทุน 1,000 ไร่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จำเป็นต้องถมทะเล จึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว” ข่าวนี้มีมาตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่(1)แล้ว จึงต้องถามว่า ถมทะเล-ทำโรงงานปิโตรเคมี-เพื่อประชาชนหรือเพื่อกระเป๋าใคร? ถ้าการถมทะเล คืออาศัยรัฐบาลอนุญาต โดยไม่ต้องซื้อหรือเช่าที่ดิน นอกจากได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นแล้ว ยังมีประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สำหรับปิโตรเคมีนั้น เปรียบเทียบกับก๊าซในอ่าวเมียนมา เป็นก๊าซแบบ’แห้ง’ สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าได้อย่างเดียว แต่ก๊าซในอ่าวไทยมีคุณสมบัติดี เป็นก๊าซแบบ’เปียก’ ที่สามารถแยกเป็นก๊าซLPG และวัตถุดิบปิโตรเคมีหลายอย่าง จึงมีค่าสูงกว่ามาก การเปิดให้เอกชนรายอื่นสร้างโรงแยกก๊าซนั้น จะสร้างคู่แข่งแก่ ปตท. ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ แต่มีคำถามว่าจะเอาก๊าซธรรมชาติจากไหนเป็นวัตถุดิบ เพราะไม่มีใครมีท่อก๊าซในทะเลที่จะแข่งซื้อก๊าซจากปากหลุมผลิตได้ นอกจากนี้ ถึงเวลาที่จะพิจารณาให้การใช้ก๊าซจากอ่าวไทยเป็นธรรมแก่ประชาชนเจ้าของทรัพยากรมากขึ้น เช่น บังคับให้ปิโตรเคมีต้องจ่ายภาษีและเงินต่างๆ อย่างน้อยอัตราเท่ากับครัวเรือน เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องไม่ไปตื่นเต้นดีใจกับตัวเลขการลงทุน 3.3 แสนล้าน แต่ควรพิจารณาให้ดีว่าอะไรเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน