คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันเข้าพบนายก“บิ๊กตู่”ยื่นสมุดปกขาวชง 6 ประเด็นสานต่องานจากรัฐบาลที่แล้วขับเคลื่อนประเทศ พร้อมขอให้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย คาดจีดีพีปีนี้ขยายตัวติดลบจากปี 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.62 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อยื่นสมุดปกขาว สำหรับข้อเสนอมี 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างความร่วมมือภาครัฐและเอกชน โดยเสนอให้มีการยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับต่างๆได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างและแนวทางการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)ระดับต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ อีกทั้งเสนอให้มีการสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร (purchase to pay) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลต่างๆ 2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเอกชน โดยขอให้ยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ทั้งในด้านสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากลรวมถึงการรณรงค์และสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) การส่งเสริมการตลาดทางออนไลน์และการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ โดยขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงภาคธุรกิจเกษตร ภาคธุรกิจบริการ ภาคการค้า ด้านดิจิทัลและด้านการเงินที่ต้องการสนับสนุนให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน 3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ เสนอให้จัดสรรงบประมาณด้านต่างๆอย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาระบบบริหารภาครัฐ เช่น ปรับปรุงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ พัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ จัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐานกลางของศูนย์ข้อมูลภาครัฐและโครงการต่างๆเพื่อมุ่งไปสู่การเป็น e-Government เป็นต้น 4.การสนับสนุนโครงการที่สำคัญของภาครัฐให้ดำเนินการต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นการดำเนินการของโครงการต่างๆที่ได้ทำมาแล้วเช่น การเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น รวมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาจากการออกประกาศผังเมือง เร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น 5.เสริมสร้างธรรมาภิบาลความรับผิดชอบต่อสังคมเสนอให้รัฐพิจารณายกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นการส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนนโยบายและการขับเคลื่อนการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นในทางปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องรวมทั้งปรับปรุงวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐ 6.กกร.เสนอยกระดับทักษะความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ โดยเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปฏิรูประบบการศึกษาโดยปรับปรุงระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เป็น e-learning เพื่อการพัฒนาศักยภาพของคน การจัดหลักสูตรการศึกษาโดยเสริมเนื้อหาด้านคุณธรรมและจริยธรรม การปรับด้านการจัดระเบียบการเรียนการสอนระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษาให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจัง การสร้างแรงจูงใจในการยกระดับฝีมือของบุคลากรทุกระดับ การสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังและการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงวัยเป็นต้น ทั้งนี้ยังเสนอให้แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในทางปฏิรูปด้วย สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในขณะนี้ คงต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นคนหมู่มากของระบบเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าคงประคับประคองได้ยาก เพราะการส่งออกหดตัวจากปีก่อน ซึ่งคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวติดลบจากปีก่อน โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐนั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐมนตรีทุกกระทรวงต่างเร่งรัดการทำงาน แต่ที่เป็นห่วงคือการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มเอสเอ็มอีและฐานราก อีกทั้งภาคเอกชนจะร่วมหารือกับทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เป็นคณะทำงานย่อยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวกว่าคณะกรรมการชุดใหญ่ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบันที่ได้มอบข้อเสนอให้กับรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางและนโยบายของรัฐบาลรวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ โดยไปพิจารณาเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม เชื่อมั่นว่า กกร.จะทำงานร่วมกับรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อช่วยกันหาแนวทางและวิธีการทำงานภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามการค้า รัฐบาลและเอกชนไทยต่างทราบดีถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญเช่นกัน จึงหารือแนวทางในการผนึกกำลังกันสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย นายกฯยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มและประเทศชาติให้มากที่สุด รวมถึงการดูแลในเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ พร้อมกันนี้ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับคณะรัฐมนตรีกำลังขับเคลื่อนไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ร่วมกัน รวมทั้งให้สร้างตลาดใหม่ที่ยังไม่มีการแข่งขันกันมากนัก เช่น การส่งเสริมในเรื่องของเอสเอ็มอีที่ประเทศไทยสามารถผลิตในต้นทุนต่ำและไม่ใช้เทคโนโลยีที่สูงมาก สามารถแข่งขันได้ โดยมีเป้าหมายผลิตสำหรับประชาชนผู้มีรายได้เข้าถึงสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก ขณะเดียวกันนายกฯได้ขอความร่วมมือภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพราคาไม่แพงจนเกินไปให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าและบริการเหล่านั้นเช่นเดียวกันประชาชนกลุ่มอื่นๆของประเทศด้วย เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง