มกอช. ติวเข้มผู้ประกอบการ ใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับได้อย่างถูกต้อง พร้อมชูศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ สหกรณ์โคนมแม่ออน จำกัด ต้นแบบผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.62 นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มกอช. ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนด ให้สินค้าเกษตรจำนวน 6 รายการเป็นมาตรฐานบังคับ ได้แก่ 1.เมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน 2.หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรค 4.การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 5.หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด และ6.การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง ซึ่งตามมาตรา 55 แห่งพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ต้องแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ลักษณะของเครื่องหมาย การใช้เครื่องหมายและการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานกับสินค้าเกษตร พ.ศ.2553 ทั้งนี้ เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่า สินค้าหรือกระบวนการในการผลิตมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ที่จะนำเครื่องหมายรับรองมาตรฐานไปใช้ได้ก็จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านหลักเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของหน่วยงานนั้น ดังนั้น มกอช. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานตามกฎหมายจึงต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จึงได้จัด “โครงการแนวทางการใช้และแสดงเครื่องหมายบรองมาตรฐานบังคับ” เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตและได้รับการรับรองตามมาตรฐานบังคับ ใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับได้อย่างถูกต้อง อาทิ มาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ มาตรฐานบังคับ เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด และมาตรฐานบังคับ เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเกษตรที่ผลิตจากสถานประกอบการที่มีระบบการผลิตได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล นอกจากนี้ ได้เยี่ยมศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ของสหกรณ์โคนมแม่ออน จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ และมอบป้ายเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ โดยศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบแห่งนี้ ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร มกษ.6401-2558 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จาก มกอช. และได้รับการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ (มกษ.6401-2558) GMP จากกรมปศุสัตว์ ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ มีสมาชิก 135 ราย ได้รับรองมาตรฐาน GAP 67 ราย รับน้ำนมดิบจากสมาชิกเช้า-เย็น 26.86 ตัน/วัน หรือรวมประมาณ 837.77 ตัน/เดือน โดยส่งให้โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ บริษัท ซีพี เมจิก และ อ.ส.ค.สุโขทัย “ปัจจุบันมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ที่ได้รับใบอนุญาตจาก มกอช. จำนวน 194 ราย โดยพื้นที่ภาคเหนือ มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 33 ราย แบ่งเป็น เชียงใหม่ 16 ราย ลำพูน 9 ราย เชียงราย 5 ราย ลำปาง 2 ราย และแพร่ 1 ราย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว