“สมคิด”เดินหน้ามอบนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมเชิงรุก ดึงนักลงทุนเตรียมย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามมาไทยให้ได้-เร่งระดมสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายๆ-เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.62 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานในสังกัดรับมอบนโยบาย ทั้งนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ มอบนโยบายให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม หารายชื่อบริษัทที่กำลังเตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนและประเทศอื่นที่จะไปประเทศเวียดนาม พร้อมจัดโรดโชว์ออกไปชักจูงให้บริษัทที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้ได้ โดยการชักจูงการลงทุนนอกจากใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว หากจำเป็นก็สามารถใช้งบสนับสนุนดึงดูดการลงทุนที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาทได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ความสามารถการแข่งขันไม่ดีเมื่อเทียบกับเวียดนามทั้งเรื่องค่าแรงที่สูงกว่า และเทคโนโลยีที่ไม่ได้ดีไปกว่าเวียดนาม นอกจากนี้นายสมคิด ยังต้องการให้ดูแลเอสเอ็มอีคนตัวเล็กให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยระบุว่าขณะนี้สงครามการค้าเริ่มส่งผลกระทบกระจายออกมาแล้ว ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานในสังกัดต้องเร่งช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการคนตัวเล็กหรือเอสเอ็มอี โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นสำคัญให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งรองรับผลกระทบ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนนี้ สำหรับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอีแบงก์ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องร่วมมือกันทำงาน ส่วนงบประมาณสนับสนุนหากไม่เพียงพอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปหารือกับสำนักงบประมาณของบเพิ่ม โดยให้แจ้งถึงความจำเป็นใช้งบประมาณในช่วงนี้ อีกทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมปรับบทบาทครั้งใหญ่ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตร โดยร่วมมือกับ ธ.ก.ส.ช่วยเอสเอ็มอีคนตัวเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ขณะที่การที่ประเทศไทยมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 นั้น นายสมคิดได้ขอให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดศูนย์ไอทีซีให้เพียงพอกับความต้องการใช้บริการของเอสเอ็มอี ปัจจุบัน กสอ.มีศูนย์ไอซีที รวม 105 แห่ง หากงบประมาณไม่เพียงพอก็ให้ของบประมาณเพิ่มเติมได้ รวมทั้งต้องมีการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์รองรับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเรื่องนี้ขอให้บีโอไอนำปรับใช้เป็นนโยบายใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน