กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมจัดประชุมวิชาการข้าวโพดและข้าวฟ่าง ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมลพบุรี อินน์ รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี มุ่งแลกเปลี่ยน แบ่งปัน สร้างองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาการผลิตข้าวโพดและข้าวฟ่างให้มีคุณภาพ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.62 นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ข้าวโพดและข้าวฟ่าง เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความสำคัญในระดับความมั่นคงทางด้านอาหาร ทำให้เกิดอุตสาหกรรมพื้นฐานต่อเนื่องอีกมากมาย ซึ่งเป็นห่วงโซ่ของอุปสงค์และอุปทานด้านอาหาร เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งผลผลิตมากกว่าร้อยละ 90 นำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยสถานการณ์การผลิตในปี 2561/62 ที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีมากถึง 8 ล้านตัน หรือประมาณ 0.69 ล้านตันต่อเดือน ทำให้ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สำหรับข้าวฟ่างนั้น พื้นที่ปลูกนับวันจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวฟ่างของไทยมีประมาณ 110,000 ไร่ ผลผลิตรวม 37,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 321 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ข้าวโพดฝักสดนั้นประเทศไทยเราสามารถส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เช่น ข้าวโพดหวานมีผลผลิตรวม 0.52 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2,200 กก.ต่อไร่ และข้าวโพดฝักอ่อนมีผลผลิตรวม 0.25 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,400 กก.ต่อไร่ การประชุมวิชาการข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ครั้งที่ 39 เป็นวาระที่กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีกรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเจ้าภาพร่วม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในแต่ละครั้ง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้จะได้รับความรู้ผ่านการบรรยายพิเศษ เรื่องการพัฒนางานข้าวโพดและข้าวฟ่าง จากอดีตสู่อนาคตในมุมมองของข้าพเจ้า โดยนายอำพล เสนาณรงค์ อดีตองคมนตรี ในรัชกาลที่ 9 การเสวนา เรื่องทิศทางและโอกาสของข้าวโพดและข้าวฟ่างสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ และการเสวนาเรื่องหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดศัตรูร้ายชนิดใหม่ในข้าวโพดของประเทศไทย รวมทั้งการนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่าง ผลงานวิจัยภาคบรรยาย ภาคโปสเตอร์ การบรรยายพิเศษ การอภิปรายคณะ กิจกรรมการศึกษาดูงาน และการจัดนิทรรศการ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลและเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิตข้าวโพด ของนักวิชาการ นักวิจัย นักส่งเสริม อาจารย์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำงานด้านข้าวโพดและข้าวฟ่าง ตลอดจนหาแนวทางในการพัฒนา แก้ไขปัญหาการผลิตข้าวโพดและข้าวฟ่างให้แก่เกษตรกร เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และการส่งออกต่อไป