นายกรัฐมนตรีสั่ง กยท. ทบทวนประกาศให้ผู้รับเหมาทั่วประเทศซื้อน้ำยางพาราสำหรับทำถนนจาก 3 บริษัท หลังมีผู้ประกอบการยางพารา ผู้รับเหมาก่อสร้าง และเกษตรกรชาวสวนยาง ออกมาเรียกร้องว่าได้รับผลกระทบ และกล่าวหาว่ามีข้าราชการ กยท. ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ส.ค.62 นายบุญชู ประสังสิต ตัวแทนผู้รับเหมาทำถนนจากยางพารา พร้อมตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางรวม 15 คน เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชนทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ดำเนินการกับข้าราชการทุจริตบางคนของการยางแห่งประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกับกลุ่มทุนบริษัทผลิตน้ำยางฯ นำนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ในโครงการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (พาราซอยล์ซีเมนต์) มาหากิน โดยร่วมกันกระทำการอันมิชอบ ไม่ปฏิบัติระเบียบ หลักเกณฑ์ข้อกำหนด ในการทดสอบคุณสมบัติของน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มฯ ที่ใช้ในการทำถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยน้ำยางธรรมชาติ โดยออกใบรับรองมาตรฐานน้ำยางฯ อย่างเร่งรีบให้แก่ กลุ่มนายทุนเพียง 3 บริษัทคือ บริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด , บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัทไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ซึ่งตามหลักฐานการจดทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีเจ้าของและผู้บริหารเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาก็ตั้งอยู่ที่เดียวกัน โดยกีดกันผู้ผลิตน้ำยางฯ รายอื่นว่าไม่ผ่านการทดสอบ ซึ่งมีผู้ประกอบการค้าน้ำยางฯ ที่ได้รับความเสียหาย ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มฯ ต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ตัวแทนผู้รับเหมาทำถนนจากยางพารา กล่าวด้วยว่า หน่วยงานราชการบางหน่วยงาน ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างถนนผิวจราจรดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาและร่างขอบเขตงาน (TOR) ที่จะต้องแนบเอกสารรับรองมาตรฐานวัสดุและคุณสมบัติน้ำยางฯ ที่ผูกขาดเพียงสามบริษัท ส่งผลให้ราคาน้ำยางฯ ที่ใช้ในโครงการ ปรับราคาขึ้นสูงกว่าที่ขายอยู่เดิมมาก จากลิตรละ 45-50 บาท (รวมค่าขนส่ง) เป็น 85 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง) ทำให้ผู้รับเหมาที่ได้รับงานจะต้องหาทางลดราคาวัตถุดิบหรือค่าใช้จ่ายอื่นลงที่จะทำให้คุณภาพของถนนอาจต่ำลงด้วย หรือผลักภาระไปที่หน่วยงานรัฐที่ว่าจ้าง ทำให้เพิ่มภาระงบประมาณ แต่กลับไม่เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพราะเมื่อเกิดการผูกขาด ผู้ผลิตก็ไม่จำเป็นต้องซื้อผลผลิตยางพาราจากท้องถิ่น สามารถเลือกและกดราคาน้ำยางฯ ได้โดยเด็ดขาด นโยบายรัฐที่ได้จ่ายเงินลงไปไม่เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ จึงร้องเรียนขอให้ทาง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยเหลือ ดูแล เกษตรกรสวนยางพารา และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามอำนาจหน้าที่ด้วย ปัจจุบันราคายางฯ ที่จำหน่ายโดย บริษัทไทยภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ ตัวแทนของ บริษัทโพลิเมอร์ อินโนเวชั่นฯ อยู่ที่ราคาลิตรละ 85 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง) ซึ่งหากถนนใช้น้ำยางฯ 10-12 ตัน/1 กม.จะมีส่วนต่างเกิดขึ้นถึง 400,000 - 480,000 บาท ต่อ กม. ซึ่งหากนำโครงการตามแผนงานที่มีงบประมาณแล้ว ของทหารบกและกองทัพไทย ระยะทาง 1,700 กม. รวมกับ กรมชลประทาน 2,100 กม.เท่ากับ 3,800 กม.จึงมีส่วนต่างในส่วนน้ำยางฯ เท่ากับ 1,520,000,000 - 1,824,000,000 บาท ไม่รวมในส่วนของหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอาจมีโครงการฯ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ กลับตกแก่เอกชนหรือนายทุนที่ผูกขาดเพียงรายเดียวกลุ่มเดียว จึงไม่อาจทำให้ราคายางพาราในประเทศสูงขึ้นได้ ทำให้นโยบายรัฐบาล ไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เกษตรกรชาวสวนยางแต่อย่างใด จากนั้นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้รับเหมายางพาราก่อสร้างถนน เดินทางมาที่การยางแห่งประเทศไทย เพื่อวางพวงหรีดไว้อาลัยการทำงานที่ล้มเหลวของผู้บริหาร กยท.ที่ปล่อยให้มีการล็อกสเป็กน้ำยางผสมและสารผสมเพิ่มในโครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ทั่วประเทศ และเห็นว่า หากมีการแข่งขันซื้อขายอย่างเสรี เชื่อว่า น้ำยางดิบจะราคาดีและเกิดประโยชน์แก่เกษตรโดยตรง ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายไปแล้วว่าให้มีการทบทวนเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่าการพิจารณาใหม่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมและทั่วถึง ดังนั้นอย่ากังวลเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลดูแลอยู่แล้ว หากมีข้อร้องเรียนว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์เข้าตัวเองก็ต้องรีบแก้ไข หากพบว่ามีการทุจริตก็จะดำเนินการหาคนทำผิดทันที