พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสละพระราชทรัพย์ และทรงตรากตรำพระวรกาย เพื่อการช่วยเหลือพสกนิกร โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติหรือศาสนามาเป็นเวลาช้านานถึง เกือบ 70 ปีแล้ว พระราชกรณียกิจที่ทรงถือว่าสำคัญยิ่งประการหนึ่งของล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบททั่วทุกภูมิภาค นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๘ โดยเริ่มที่ตำบลห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจุดแรก ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา 29 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษา 22 พรรษาเท่านั้น แต่ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรตลอดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชกระแสว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ท่าน มิได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรเพียงเพื่อเป็นการทรงปฏิบัติตามราชประเพณีในฐานะองค์ประมุขของประเทศเท่านั้น แต่ทรงพยายามช่วยรัฐบาลส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนแล้ว ก็ต้องถือว่า การเป็นประมุขของประเทศประสบความล้มเหลว ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรนั้น ทรงแบ่งเวลาหลายวาระและหลายปีด้วยกัน จนทั่วพระราชอาณาจักร ทำให้ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ทรงมีโอกาสศึกษาสภาพท้องถิ่น วิถีชีวิต ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นด้วยพระองค์เอง กล่าวได้ว่าทรงรู้จักคนไทยทั่วประเทศดีว่า ภาคใดมีอาชีพอะไร มีทุกข์สุขอย่างไรบ้าง ทรงวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว แล้วพระราชทานพระราชดำริริเริ่มโครงการหลากหลาย อันจะยังประโยชน์ให้แก่เขาเหล่านั้น โดยเฉพาะแก่เหล่าเกษตรกรผู้ยากไร้ และเป็น “ กระดูกสันหลังของชาติ ” ซึ่งเป็นจำนวนเกือบ ๘๐% ของพลเมืองในประเทศไทย ส่วนใหญ่ชาวไร่ชาวนาเหล่านี้มีรายได้ไม่เพียงพอกับการเลี้ยงชีพ มักมีหนี้สิ้น เพราะประสพปัญหาด้านไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองบ้าง ปัญหาด้านการเกษตรกรรมบ้าง ปัญหาด้านดินฟ้าอากาศ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ ในการขายพืชผลของตนบ้าง ฯลฯ และมีจำนวนมากที่ละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในที่แห่งอื่น ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบแก่สังคมและเศรษฐกิจของชาติโดยรวมด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มระบบการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรและพระราชทานพระราช ดำริเป็นโครงการหลักต่างๆ เพื่อการพัฒนาด้านการเกษตร และการทำมาหากินของราษฎรในชนบท ในเวลาเดียวกันสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็พระราชทานพระราชดำริเป็นโครงการอาชีพเสริม จากอาชีพเกษตรกรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านควบคู่กันไปเสมอ เนื่องจากไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่แห่งใด ก็จะทรงศึกษาสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร และปัจจัยต่างๆ ในท้องถิ่น ที่จะเอื้ออำนวยให้ทรงคิดค้นอาชีพเสริม หรือสิ่งที่ยังประโยชน์ให้เหมาะสมแก่ราษฎรในท้องถิ่นนั้นเสมอ ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ ... ข้าพเจ้าอยากเห็นชาวนา ชาวไร่ มีงานศิลปาชีพพิเศษเป็นงานเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเพื่ออนุรักษ์ศิลปะโบราณอันงามวิจิตรของไทยไว้ ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย ... ” กำเนิดโครงการศิลปาชีพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงริเริ่มโครงการหัตถกรรมเพื่อช่วยเหลือราษฎรเป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เนื่องจากได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านเขาเต่า ทรงพบว่า นอกจากความยากจนอย่างยิ่งของราษฎรแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีพื้นที่แห้งแล้งมาก ขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้กรมชลประทานจัดสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่เขาเต่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงแนะนำชักชวนให้หญิงชาวบ้านเขาเต่า หัดทอผ้าฝ้ายขายเพื่อเป็นอาชีพเสริม กับอาชีพหลัก คือ การประมงของฝ่ายชาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลโท หม่อมเจ้าประเสริฐศรี ชยางกูร ราชองครักษ์ เป็นผู้ควบคุมโครงการ มีพระราชเสาวนีย์ให้ไปขอครูทอผ้าจากโรงงานทอผ้าบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี มาสอนการทอผ้าแก่ราษฎรบ้านเขาเต่า พร้อมทั้งให้สร้างกี่ทอผ้าขึ้นที่ท้ายวังไกลกังวล ทุกๆ วัน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งรถไปรับชาวบ้านมาหัดทอผ้า โดยเริ่มจากทอผ้าขาวม้า และผ้าซิ่นเป็นส่วนใหญ่ พระราชทานทั้งอาหารกลางวันและค่าแรงแก่ผู้ทอ ผู้ที่มีลูกเล็กๆ ก็ให้นำลูกมาด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้นางสนองพระโอษฐ์ช่วยกันดูแลเด็ก ถึงเวลาเย็นก็จัดส่งชาวบ้านกลับบ้าน กิจการทอผ้าท้ายวังดำเนินไปเช่นนี้จนถึงเวลาเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร จึงจำต้องย้ายกิจการไปอยู่ที่ใต้ถุนศาลาวัดเขาเต่า โดยมีเจ้าอาวาสวัดเขาเต่า และครูใหญ่โรงเรียนบ้านเขาเต่า ช่วยดูแลต่อ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ โครงการทอผ้าดังกล่าวได้ย้ายไปยังที่ตั้งถาวรบนที่ดิน ๓ ไร่ ๖๐ ตารางวา ของนายประสิทธิ์ และนางเจียมจิต ยอดย้อย พร้อมทั้งผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันโดยเสด็จพระราชกุศล สร้างอาคารรวมทั้งอุปกรณ์การทอถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอด พระเนตรการดำเนินงานของโรงทอผ้าแห่งนี้ ทรงรับซื้อผ้าของชาวบ้านไว้เกือบทั้งหมดและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่ผู้ทอที่ฝีมือดี ตลอดจนมีความขยันหมั่นเพียร เป็นเหรียญทองคำหนัก ๑ บาท จำนวน ๑๓ คน เหรียญนั้นมีข้อความจารึกไว้ด้านหน้าว่า “ โปรดเกล้าฯ พระราชทานคนขยัน ” ด้านหลังจารึกว่า “ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ” บางครั้งก็พระราชทานสร้อยคอทองคำ ในปัจจุบัน โครงการทอผ้าฝ้ายที่เขาเต่า ได้เปลี่ยนแปลงเป็นกิจการของกรมการพัฒนาชุมชน โดยพัฒนากรอำเภอหัวหิน เป็นผู้ดูแลโครงการตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๑ มีการสอนการทอผ้า ย้อมสี ตัดเย็บ และสอนการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ สำหรับโครงการศิลปาชีพที่ดำเนินการอย่างเป็นทางการโครงการแรก ได้แก่ โครงการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่จังหวัดนครพนม เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม ในเดือนพฤศจิกายน พุทธ ศักราช ๒๕๑๓ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยในซิ่นไหมมัดหมี่ที่หญิงชาวบ้านนุ่ง เพราะมีความสวยงามแปลกตา ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า การพระราชทานสิ่งของแก่ราษฎรเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ควรหาทางให้ราษฎรสามารถเลี้ยงตนเองได้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าการทอผ้าไหมมัดหมี่ขาย เหมาะที่จะเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้าน เนื่องจากทุกครัวเรือนจะทอใช้กันอยู่แล้ว โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่น แทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมแต่ประการใด ทรงชักชวนให้ชาวบ้านเริ่มประกอบอาชีพเสริมด้วยการทอผ้าไหมมัดหมี่ และทรงมีพระราชกระแสกับชาวบ้านว่า พระองค์จะทรงใช้ผ้าที่พวกเขาทอ ซึ่งนับว่าได้พระราชทานกำลังใจให้แก่พวกเขาเป็นอย่างมาก และทรงรับซื้อผ้าที่ชาวบ้านทอทุกผืน โดยมีผู้รวบรวมไปส่ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๑๕ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์ และนางสนองพระโอษฐ์ ออกไปติดต่อรับซื้อผ้าไหมถึงบ้านของชาวบ้าน เริ่มจากจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดแรก โดยรับซื้อผ้าไหมทุกระดับฝีมือ และให้ราคาที่ชาวบ้านพอใจ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ราชเลขานุการในพระองค์ รวบรวมผ้าไหมให้มากที่สุด เพื่อเก็บไว้เป็นตัวอย่าง และให้เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ทอด้วย และทรงรับซื้อผ้าทอมือประเภทอื่นๆ ด้วย เมื่อราชเลขานุการในพระองค์ และคณะออกไปปฏิบัติงานที่หมู่บ้านใด จะจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้น และรับชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่ทอผ้าไม่เป็นก็ให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเป็นวัตถุดิบแก่ผู้ทอที่ไม่มีเส้นไหมโครงการทอผ้าไหมนี้ได้ขยายออกไปจนทั่วภาคอีสาน และเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ข้อมูลศูนย์ศิลปาชีพ