ความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบจากการขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดที่ปรากฏเป็นข่าวช่วงนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของการกำหนดนโยบายด้านภาษีของรัฐบาล เพราะไม่มีครั้งใดที่สร้างความเดือดร้อนรุนแรงเหมือนการขึ้นภาษีบุหรี่ในปี 2560 ที่ทำเอาชาวไร่ยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทยโดนตัดโควตาปลูกยาสูบไปถึงร้อยละ 50 เมื่อฤดูกาล 2561/2562จนรัฐบาลต้องออกมาจ่ายเงินชดเชยให้แม้จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ตาม ปัญหาโควตาการปลูกยาสูบและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการขึ้นภาษียาเส้นเมื่อเดือน พ.ค.2562 ที่กำลังลุ้นกันอยู่ว่าจะทำให้ชาวไร่ที่ปลูกยาสูบป้อนโรงงานยาเส้นต่างๆ จะโดนตัดโควตาด้วยหรือไม่ จนเป็นที่มาให้พี่น้องชาวไร่ยาสูบต้องยกขบวนมาขอให้ ส.ส. ากพื้นที่ของตนช่วยเป็นตัวแทนเข้ามาดูแลให้กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตพิจารณาทบทวนภาษียาสูบเสียใหม่แม้ว่าจะมีการเลื่อนการขึ้นภาษีออกไป 1 ปีก่อนหน้านี้แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา ล่าสุดนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดเพชรบูรณ์ แหล่งปลูกยาสูบที่สำคัญของประเทศไทยที่ผลิตใบยาส่งให้ทั้งการยาสูบฯ และโรงงานยาเส้นต่างๆ ได้ตกปากรับจะดูแลปัญหาภาษียาสูบให้ โดยอาจปรับลดภาษียาเส้นลงจากที่ขึ้นภาษีไป 20 เท่าก็อาจจะปรับให้ขึ้นเพียง 5-10 เท่า ส่วนภาษีบุหรี่จะให้ศึกษาว่าใช้วิธีการค่อยๆขึ้นทุก 2 ปีๆละ 5% จะดีกว่าขึ้นภาษีเท่าตัวหรือ 100% ที่จะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. 2563 หรือไม่ ซึ่งได้ใจเกษตรกรชาวไร่ในทันที สภาพการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการขึ้นภาษียาสูบของไทยแบบที่ผ่านมาเกินจุดสมดุลไปมาก ความมุ่งหวังของรัฐที่จะขึ้นภาษีสูงๆ เพื่อลดการบริโภคยาสูบและสร้างรายได้ให้รัฐกลับเป็นการทำร้ายชาวไร่ยาสูบซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมยาสูบ รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ก็กำไรลดลงอย่างน่าใจหาย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกรายย่อยกว่า 500,000 รายที่ทำมาหากินเสียภาษีตามกฎหมาย ขณะที่เรื่องดังกล่าวสร้างรายได้ให้พ่อค้าของหนีภาษี และที่สำคัญยังไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ที่รัฐตั้งใจทั้งในเรื่องของรายได้รัฐที่มีแนวโน้มตกเป้าที่ตั้งไว้ และเรื่องของสุขภาพที่คนสูบไม่ได้ลดลงตามจำนวนบุหรี่เถื่อนที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว กล่าวได้ว่า นอกจากเป็นนโยบายที่ไม่เป็นไปเป้าแล้วและยังสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและประชาชนเป็นวงกว้าง แม้รัฐไม่ได้คาดหวังให้เกิดขึ้นก็ตาม บทเรียนจากสภาพปัญหาล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า การขึ้นภาษียาสูบแบบเดิมๆของกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตมาถึงจุดที่คงไม่สามารถเดินต่อไปได้แล้ว แน่นอนว่ารัฐยังคงจะต้องขึ้นภาษียาสูบต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่พึงต้องทำเพื่อสุขภาพของประชาชน แต่หากมองกันในระยะสั้นสภาพเศรษฐกิจไทยยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนีความมั่นคงผู้บริโภคตกต่ำลง ราคาพืชผลหลักทางการเกษตรยังไม่ฟื้นตัว แถมเกษตรกรไทยยังต้องเผชิญปัญหาภัยแห้งครั้งใหญ่ เช่นนี้แล้วกระทรวงการคลังสมควรทบทวนการปรับขึ้นภาษียาสูบเสียใหม่ โดยน่าจะพิจารณาเอาวิธีการกำหนดแผนการขึ้นภาษีระยะยาวหรือโรดแมพการขึ้นภาษีมาใช้โดยประกาศให้ชัดเจนล่วงหน้าแทนการขึ้นแบบทันทีทันใดและก้าวกระโดด กล่าวคือขึ้นภาษีพอให้ทันกับเงินเฟ้อและกำลังซื้อของประชาชน ดีกว่าขึ้นภาษีครั้งละมากๆที่ทำเอาเกษตรกรแทบสิ้นอาชีพ และยังไม่มีพืชทดแทนหรืออาชีพทางเลือกอื่นที่สร้างรายได้ดีเท่าการปลูกยาสูบในสภาพเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน แบบนี้ทุกฝ่ายน่าจะอยู่ได้ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือการดูแลปากท้องประชาชนโดยเฉพาะในภาคการเกษตร เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย หากรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการคลังนิ่งเฉยไม่ทบทวนภาษียาสูบเสียใหม่ เป็นไปได้สูงว่าเศรษฐกิจภาคการเกษตรในจังหวัดที่ปลูกยาสูบมากว่า 20 จังหวัดจะทรุดหนักกว่าเดิม นโยบายสาธารณะที่ดีจึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างผลได้-ผลกระทบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว งานนี้ต้องฝากเป็นการบ้านให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ดูแลกรมสรรพสามิต และรัฐมนตรีช่วยสันติที่ดูแลการยาสูบฯไปพิจารณาว่าในช่วง 100 วันหลังเข้าบริหารกระทรวงการคลังแล้วจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่กลุ่มนี้และกำหนดนโยบายภาษีที่สมดุลได้อย่างไร