อีกเคสคนไข้ที่ตอกย้ำอันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดแดงในปอดเฉียบพลัน อันเนื่องมาจากเส้นเลือดขอดที่ขา (จากเคสก่อนหน้า เป็นคนไข้ที่ทำงานนั่งนานๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมง ไม่ขยับ ไม่ออกกำลังกาย) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์ผ่านเพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” โดยระบุ “ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดแดงในปอดเฉียบพลันมากกว่า 50 % (Massive Pulmonary Embolism) ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยใจจะขาด หายใจเร็ว ชีพจรเร็ว ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ถ้าไม่ได้รับการรักษาเป็นอันตรายถึงชีวิต ถึงได้การรักษา อาจตามมาด้วยความดันหลอดเลือดในปอดสูงในภายหลัง Chronic thromboembolic pulmonary hypertension (CTEPH) ทำให้มีอาการเหนื่อยเรื้อรัง ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 79 ปี เข้าไอซียูรพ.เมื่อ 21 ปีที่แล้วด้วยอาการเหนื่อยใจจะขาด เดิน 3 ก้าวก็เหนื่อย เคยผ่าตัดเส้นเลือดขอดที่ขาทั้งสองข้าง ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ตรวจร่างกาย ความดันปกติ ชีพจรเร็ว 135 ครั้ง/นาที หายใจเร็ว ขาข้างขวาโตกว่าข้างซ้าย วัดระดับออกซิเจนในเลือดแดงต่ำ 53 มม.ปรอท เอกซเรย์ปอดหัวใจโตเล็กน้อย หลอดเลือดที่ขั้วปอดโตผิดปกติ(ดูรูป) ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) หัวใจเต้นเร็ว 137 ครั้ง/นาที ทำอัลตราซาวด์เส้นเลือดดำที่ขา 2 ข้างพบลิ่มเลือดอุดตันที่ขาข้างขวา สรุป: ผู้ป่วยมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในขาหลุดไปอุดกั้นหลอดเลือดในปอดมากกว่า 50% ให้ยาละลายลิ่มเลือด TPA ฉีดเข้าเส้นเลือด หลังให้ TPA อาการเหนื่อยลดลง และให้ยาต้านลิ่มเลือดโดยฉีดยาเฮพาริน (Heparin) คู่กับยารับประทานวาร์ฟาริน (warfarin) แล้วเปลี่ยนเป็นยาวาร์ฟารินทานต่อเนื่อง เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า 2 ข้างได้วางตะแกรงกรองลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำใหญ่ในท้อง(IVC filter)เพื่อป้องกันลิ่มเลือดหลุดจากหลอดเลือดดำในขาไปอุดกั้นหลอดเลือดแดงในปอด (ดูรูป) เนื่องจากต้องหยุดยาต้านลิ่มเลือดชั่วคราวระหว่างและหลังการผ่าตัดระยะเวลาสั้นๆ หลังผ่าตัดผู้ป่วยกลับมาทานยาวาร์ฟารินเหมือนเดิม 5 ปีที่แล้วผู้ป่วยเริ่มเหนื่อยง่าย เดิน 100 เมตรเหนื่อย วัดระดับออกซิเจนในเลือดปกติ เอกซเรย์ปอดหัวใจโตกว่าเดิม หลอดเลือดที่ขั้วปอดโตขึ้นอีก (ดูรูป) ทำคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ Echocardiogram พบการบีบตัวของหัวใจยังปกติ แต่ความดันของหลอดเลือดแดงในปอดสูง 68 มม.ปรอท ผู้ป่วยรายนี้มีความดันหลอดเลือดในปอดสูงตามหลังลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดในปอด Chronic thromboembolic pulmonary hypertension (CTEPH) ได้เริ่มยาลดความดันในหลอดเลือดแดงในปอด sildenafil และยังทานยาต้านลิ่มเลือดต่อ ได้ยา sildenafil ต่อเนื่องนาน 5 ปี ปัจจุบันผู้ป่วยยังเหนื่อย ทำคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความดันของหลอดเลือดแดงในปอด ยังไม่ลดลง สูงเหมือนเดิม ขณะนี้กำลังรอยาลดความดันในหลอดเลือดแดงในปอดขนานใหม่”