นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กเรื่อง'ไม่มีบทลงโทษถวายสัตย์ไม่ครบจริงหรือ?'ความว่า...
“ไม่มีบทลงโทษถวายสัตย์ไม่ครบ จริงหรือ?” มีผู้วิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าถ้าถวายสัตย์ไม่ครบ จะต้องได้รับการลงโทษยังไง แถมยังแนะช่องออก โดยอ้างมาตรา 5 “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ประกอบกับรัฐธรรมนูญหลายฉบับไม่ได้ระบุไว้ จึงแสดงว่าตามประเพณีการปกครอง ไม่สามารถถือเป็นเรื่องสำคัญ ผมตั้งข้อสังเกต เริ่มด้วยคำถามว่า การถวายสัตย์มีที่มาอย่างไร? บทความข้างล่างระบุว่า เป็นการปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณ สืบทอดมาจากพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จึงเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ การแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์นั้น มีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนยุครัตนโกสินทร์ แต่ทำไมต้องนำมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ? ครั้งแรกในฉบับที่ 5 (23 มีนาคม 2492) ภายหลังจากนั้น บางฉบับก็มีระบุ บางฉบับก็ไม่มี ตอบว่า ถ้าลำพังการถวายความจงรักภักดีนั้น คงไม่จำเป็นต้องระบุ เพราะสำหรับคนไทยอยู่ในสายเลือด ดีเอ็นเอ ครบถ้วนอยู่แล้ว และมีการทำพิธีย้ำเรื่องนี้เป็นครั้งคราวในโอกาสต่างๆ อยู่แล้ว เหตุผลที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏครั้งแรกในฉบับที่ 5 มีข้อความว่า “และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” เห็นได้ชัดแจ้งว่า เป็นการให้ผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต้องให้คำมั่น มิใช่เฉพาะให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่ให้แก่ประชาชนพลเมืองด้วย เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญสะท้อนสิทธิของพลเมือง และให้รัฐมนตรีต้องรักษาสิทธิของพลเมือง ดังนั้น การถวายสัตย์ไม่ครบ ถึงแม้ไม่ต้องรับผิดชอบทางอาญาต้องติดคุก แต่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน กรณีรัฐธรรมนูญในต่างประเทศก็มีบางอย่างคล้ายกัน เช่น การกระทำบางอย่างของผู้บริหารสูงสุดที่ไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรง ถึงแม้รัฐสภาจะไม่สามารถลงโทษทางอาญาได้ แต่ก็ลงโทษทางการเมืองได้ โดยกระบวนการ Impeachment เป็นต้น