เป็นเวลา 34 ปีแล้ว ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานวันแม่ นับแต่ปีพุทธศักราช 2529 ต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และร่วมฉลองในโอกาสวันแม่แห่งชาติ และทุกปีได้มีการคัดเลือกแม่ตัวอย่างในบทบาทด้านต่างๆ รศ.นพ.สรายุทธ สุภาพรรณชาติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงาน “มหิดล – วันแม่” ประจำปี 2562 ได้เป็นประธานประกาศผลการคัดเลือกแม่ดีเด่นเนื่องในงาน “มหิดล - วันแม่” ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติในงาน “มหิดล - วันแม่” ประจำปี 2562 ทั้งนี้ ม.มหิดลได้จัดกิจกรรมคัดเลือก “แม่สู้ชีวิต” “แม่ 100ปี” และ “แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อเชิดชูบทบาทของแม่ โดยมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ประชุมเพื่อคัดเลือกในรอบแรก จากนั้นมีการออกไปเยี่ยมสำรวจดูสภาพความเป็นจริง และสัมภาษณ์เพิ่มเติมจนได้ข้อมูลตรงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จึงพิจารณาให้เป็นผู้ได้รับรางวัล สำหรับผู้ได้รับคัดเลือก “แม่สู้ชีวิต” “แม่ 100ปี” และ “แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งเสด็จแทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มาทรงเป็นประธานเปิดงาน “มหิดล– วันแม่” เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ส.ค.62 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ************************************************ รางวัล “แม่สู้ชีวิต” จัดขึ้นเพื่อตอบแทนพระคุณของแม่ที่ได้อุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อลูก ลูกของแม่สู้ชีวิตไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยการมีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีการศึกษาสูง ลูกอาจเป็นเด็กพิการ แต่แสดงให้เห็นว่า ด้วยความรัก ด้วยจิตใจ และสองมือของแม่ได้โอบอุ้มให้ลูกสู้ชีวิตอยู่ได้ รางวัลมี 2 ประเภท คือ แม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกพิการ และ แม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ ปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 38 รายจากทั่วประเทศ มีผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล 8 ราย ดังนี้ รางวัลแม่สู้ชีวิตประเภทแม่ของลูกปกติ ภาคเหนือ - แม่อรุณศรี ถาวร อายุ 45 ปี จังหวัดเชียงใหม่ หลังแยกทางกับสามีพร้อมกับทิ้งหนี้สินภาระต่างๆ ให้แม่ต้องแบกรับไว้ แม่เองก็ป่วยเบาหวาน ลำพังรายได้จากทำนา ทำไร่ข้าวโพด ไม่พอ ขยัน ประหยัดอย่างไรก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน โดยเฉพาะช่วงที่คุณยายป่วยต้องฟอกไต แม่ทั้งเหนื่อยและเครียด แอบร้องไห้ทุกคืน แต่ต้องเข้มแข็งเพื่อลบล้างคำดูถูกของคนรอบข้าง แม่ไม่ท้อ เพราะมีลูกเป็นกำลังใจ แม่สอนลูกให้เป็นคนดี แม่อรุณศรีได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ช่วยให้ความรู้แนะนำด้านสุขภาพอนามัยให้แก่ชุมชน ปัจจุบันลูกทั้ง 2 คนเรียนจบดั่งที่ตั้งใจ ลูกชายคนโตเข้ารับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งเป็นอาชีพที่ลูกรัก แม้รายได้จะไม่มากนักแต่มีสวัสดิการมาช่วยค่ารักษาพยาบาลของแม่ได้ ส่วนลูกสาวกำลังรอสอบบรรจุครู ภาคอีสาน -แม่สำลี สารนอก อายุ 81 ปี จังหวัดนครราชสีมา เป็นทั้งพ่อและแม่ของลูก 8 คน เนื่องจากสามีเสียชีวิตตั้งแต่ลูกยังเล็ก ต้องทำนา ปลูกผักขาย เมื่อลูกเริ่มโตพอช่วยทำงานได้ ก็ต้องหยุดเรียนมาช่วยแม่ทำงาน เพื่อจะได้ส่งน้องๆ อีก 5คน ได้เรียนต่อ เมื่อลูกๆ เข้ามหาวิทยาลัยค่าใช้จ่ายเริ่มสูงขึ้น แม่ยิ่งต้องโหมงานหนักขึ้น อดทนเพื่ออนาคตที่ดีของลูก แม่สอนลูกเสมอว่าบ้านเราจน ต้องช่วยกันทำงาน ต้องอดทน ขยันตั้งใจเรียน ทุกวันนี้ลูกของแม่ มีหน้าที่การงานที่ดี ตั้งใจทำงาน ทำให้แม่ภูมิใจ ภาคกลาง - แม่ติ๊ด อัตโสภณ อายุ 99 ปี จังหวัดราชบุรี แม่เป็นคนดำเนินสะดวกมีลูก 9 คน ชีวิตลำบาก เมื่อเป็นเด็กอยู่กับคุณยายตาบอด ต้องรับจ้างทำงานในสวน จึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แม่ติ๊ดใช้ชีวิตคู่กับคุณพ่อพิชัย ก่อร่างสร้างตัวจากการขายน้ำตาลมะพร้าวใส่ปี๊บ แม่พายเรือไปส่งตลาดนัด ยกปี๊บซึ่งหนักมากวันละ 20– 30 ปี๊บ ขากลับก็ซื้อไข่เป็ดไล่ทุ่งกลับมาขายที่บ้าน และหารายได้เสริมทำขนมขาย แม่ขยันอดทน สู้อย่างนี้ เพราะอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือสูงๆ จะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยเหมือนแม่ เมื่อเศรษฐกิจการค้าไม่ราบรื่น รายได้ไม่พอจ่าย แม่ติ๊ดจำใจตัดสร้อยทองที่สะสมไว้แบ่งขายทีละข้อจนหมด เมื่อไม่พอก็ต้องกู้ ดอกเบี้ยก็ทบต้นทบดอก เจ้าหนี้ทวงเช้าทวงเย็น สุดท้ายแม่ตัดสินใจขายบ้านริมคลองอันเป็นที่รัก มาใช้หนี้ เหลือบางส่วนมาซื้อบ้านหลังเล็กๆ เหลือเงินเล็กน้อยพอประคับประคองชีวิตครอบครัวในยามนั้น คอยวันเวลาให้ลูกเรียนจบจนทำงานได้ดีกันทุกคนสมที่รอคอย สิ่งหนึ่งที่ลูกๆ ได้พร้อมใจกันทำ คือซื้อบ้านหลังเก่าริมคลองที่แม่ขายไป ให้กลับมาเป็นของขวัญแก่แม่ติ๊ด ให้แม่ได้มีความสุข ได้รำลึกถึงอดีตในช่วงชีวิตที่แม่เคยต่อสู้ชีวิตเพื่อลูกๆ มาได้อย่างภาคภูมิใจ (จากบนซ้ายสุด) อรุณศรี-สำลี-ติ๊ด (กลางซ้าย) ย่อง-สุพิณทอง (ล่างซ้าย) คำ-ทองจร-รัชนี ภาคใต้ - แม่ย่อง บัญชาพัฒนศักดา อายุ 77 ปี จังหวัดพัทลุง แม่ต้องฝ่าฟันต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ครอบครัวมีเงินซื้ออาหารและเป็นค่าเล่าเรียนของลูกทั้ง 6 แม่ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำมาตลอด ตื่นแต่เช้ามาโกยทรายในคลองหลังบ้านเอามาขาย สามีเป็นช่างก่อสร้างก็ทำแบบไว้ให้แม่ได้นำทรายมาผสมปูน หล่อเป็นท่อซีเมนต์ขาย ที่ดินทำกินก็ไม่มี ต้องเช่าทำนา ปลูกผัก ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง อาหารการกินก็หาจากในลำคลองหลังบ้าน แม่ยังรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า แม่เย็บผ้าทั้งวันทั้งคืน ลูกๆ ไม่รู้ว่าแม่หลับตอนไหน เพราะจะได้ยินเสียงจักรเย็บผ้าทั้งคืน ตอนนั้นเพราะลูกเยอะต้องรีบหาเงินไว้ให้ลูกได้เรียนสูงๆ แม่ต้องทำงานหนักมากขึ้นอีก เมื่อสามีป่วยต้องกู้เงินมารักษาและส่งลูกเรียน เมื่อลูกคนโต 2 คนเรียนจบก็ช่วยกันดูแลน้องๆ ให้ได้เรียนต่อ นี่คือความสำเร็จของแม่คนนี้ ที่ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ให้ นอกจากการศึกษา ประเภทแม่ของลูกพิการ ภาคเหนือ -แม่สุพิณทอง ไชยวงค์ อายุ 49 ปี จังหวัดเชียงใหม่ แม่ทุ่มเทและทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกน้อยมีชีวิตและมีพัฒนาการทางร่างกายที่ดีขึ้น ความพิการของลูกเกิดจากภาวะแท้งคุกคามตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แม่ทราบดีตลอด และไม่เคยเสียใจ แต่กลับยอมรับให้เกิดมาเป็นลูกของแม่ แม้จะจนท้อ เครียด โดยเฉพาะต้องดูแลลูกเพียงลำพังหลังแยกทางกับสามี กำลังใจสำคัญที่ช่วยให้มีพลัง คือ ลูกสาวคนเล็ก ที่คอยดูแลรักพี่สาวโดยไม่รังเกียจ ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากญาติและคนรอบข้างอย่างดี ทุกวันนี้แม่ลาออกจากงานประจำด้านอสังหาริมทรัพย์ที่รายได้ดีเพื่อมีเวลาดูแลลูกสาวได้ตลอด และทำขนมอาหารว่างขายส่งสถานที่ราชการและขายเสื้อผ้ามือสอง แม่สัญญาจะทำทุกอย่างเพื่อฝ่าวิกฤติต่างๆ ไปให้ได้ ภาคเหนือ- แม่คำ พยัคฆา อายุ 59 ปี จังหวัดลำปาง แม่และสามีเป็นกรรมกรก่อสร้างทำงานหนัก พอคลอดลูกคนเล็กพบว่า ลูกมีพัฒนาการช้าไม่สมวัย แม่ทำทุกวิถีทางจนลูกคลาน และเดินได้ด้วยไม้ค้ำยันเมื่ออายุ 7 ปี แต่ยังไม่ปกติ สื่อสารพูดคุยกับใครไม่ได้ ด้วยอาชีพก่อสร้างต้องย้ายไปหลายจังหวัด จึงต้องฝากให้ญาติดูแลลูก ทั้งที่ใจแม่อดเป็นห่วงไม่ได้ ต่อมา สามี ยาย และย่า ป่วยเสียชีวิต ทำให้ชีวิตแม่ช่วงนั้นลำบากมาก เมื่อลูกสาวคนโตจบปริญญาตรี มีงานทำได้ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระแม่ได้มาก ทุกวันนี้แม่ได้กลับมาดูแลลูกคนเล็กใกล้ชิด ทุ่มเทพยายามทำทุกอย่าง อยากให้ลูกเป็นคนพิการที่เก่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดูแลตัวเองให้ได้ในยามที่แม่จากไป ภาคอีสาน -แม่ทองจร ดวงอาจ อายุ 67 ปี จังหวัดศรีสะเกษ แม่ต้องเลี้ยงลูก3 คน เพียงลำพัง เพราะสามีเสียชีวิต ลูกคนโตพิการทางสติปัญญา และพิการทางการสื่อความหมาย เพราะได้รับเชื้อมาลาเรียตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แม่ดูแลหาข้าวหาน้ำเลี้ยงดูด้วยความรักมากว่า 45 ปี ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจน ต้องรับจ้าง เลี้ยงวัว เวลาว่างจะทำขนมขายในชุมชน ชีวิตแม่ไม่เคยสุขสบาย ลูกชายคนเล็กหัวเรี่ยวหัวแรงก็ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมีย มีอาการแทรกซ้อนตลอด แต่แม่ไม่ยอมแพ้โชคชะตา แต่แล้วชีวิตแม่ก็ต้องเผชิญวิกฤติอีกครั้ง เมื่อลูกชายคนเล็กต้องมาสูญเสียขา เพราะติดเชื้อจากแมลงกัด แต่ไม่ได้ทำให้ลูกท้อกลับมุมานะ นำความรู้ที่มีมารับจ้างตัดผม และทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ ซึ่งมีรายได้เพียงพอที่จะช่วยเหลือครอบครัว ทุกวันนี้แม่หมดห่วง เพราะลูกๆ ต่างช่วยเหลือดูแลกัน ไม่ทิ้งกัน ภาคกลาง - แม่รัชนี ภู่เงิน อายุ 38 ปี จังหวัดฉะเชิงเทรา แม่มีลูกสาวคนเดียวอายุ 15 ปี สมองพิการแต่กำเนิด ร่างกายแขนขาโค้งบิดงอผิดรูป ขณะแม่ท้องได้ 5 เดือน ต้องผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออก เนื่องจากลำไส้อุดตัน ส่งผลให้ลูกหยุดหายใจไปชั่วขณะ แพทย์ต้องฉีดยากระตุ้นหัวใจ พอคลอดออกมา ลูกจะร้องไห้ตลอด ชักเกร็งบ่อยๆ แม่ต้องพาลูกไปรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่ใครว่าดีแม่ไปหมด ด้วยหวังให้ลูกหาย ลำบากแค่ไหนแม่ก็สู้ แม้จะโดนไล่ลงจากรถ เพราะลูกร้องไห้ไม่หยุด แม่ก็ทน ส่วนพ่อทิ้งไปตั้งแต่ลูกอายุได้เพียง 2 ขวบ ปัจจุบันลูกเป็นคนไข้ติดเตียง ต้องเจาะคอใช้เครื่องช่วยหายใจหมอบอกให้แม่ทำใจไว้บ้าง แต่แม่ก็ยังหวังปาฎิหาริย์ และนับเป็นบุญของลูก ที่ได้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุดแก่สองแม่ลูก ทุกวันนี้ แม่รัชนีต้องออกจากงาน มาเฝ้าลูกทุกวัน ด้วยความหวังว่าลูกจะได้กลับบ้าน แต่แล้วโชคชะตาก็ไม่เข้าข้าง ลูกสาวต้องมาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.ค.62 ที่ผ่านมา สุดที่จะยื้อชีวิตต่อไปได้ ** บรรยายใต้ภาพ (ไล่จากบนซ้ายสุด) อรุณศรี-สำลี-ติ๊ด (กลางซ้าย) ย่อง-สุพิณทอง (ล่างซ้าย) คำ-ทองจร-รัชนี ************************************************* รางวัล “แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” “สิ่งแวดล้อมดีเริ่มต้นที่แม่” ได้คัดเลือกแม่ที่มีบทบาทสนับสนุนให้ลูกเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่ดี และเป็นแม่ที่มีบทบาทสนับสนุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสังคมอย่างเด่นชัด ปีนี้มีผู้เสนอชื่อ 39 ราย ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัล 4 ราย ดังนี้ แม่สุวรรณี พรหมประสิทธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ เริ่มจากวัยเด็ก แม่เห็นรถขนไม้ซุงในพื้นที่แล่นผ่าน แม่มีความคิดว่า ทำอย่างไรให้พื้นที่ป่าไม่โดนรุกล้ำ จึงสนใจด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่นั้น และเลือกเรียนชีววิทยา เมื่อเข้ารับราชการครู สอนวิทยาศาสตร์ ได้ปลูกฝังลูกศิษย์หลายรุ่น โดยให้ธรรมชาติเป็นห้องเรียน พานักเรียนไปศึกษาสถานที่จริง ให้รู้จักรากเหง้าของท้องถิ่น อนุรักษ์พืชพันธุ์ธรรมชาติ จัดทำหลักสูตรรายวิชาเกี่ยวกับธรรมชาติ ได้แก่ วิชาเขาชอนเดื่อ วิชาพฤกษศาสตร์สมุนไพร วิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ แม่ยังทำงานร่วมกับชุมชนเฝ้าระวังไฟป่ารอบเขารอยเสือ ด้วยวิธีโยนเมล็ดกระถินเพื่อสร้างแนวป้องกันไฟ แม่ยังเป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น แม่ปลูกฝังให้ลูกรู้จักธรรมชาติ มุ่งหวังให้ลูกและเยาวชนเรียนรู้รักษ์ป่าอย่างยั่งยืน แม่ศิวพร เอี่ยมจิตกุศล จังหวัดจันทบุรี จากเดิมที่แม่ไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตร แม่พยายามศึกษาหาความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากปรับปรุงดินที่ถูกทำลายด้วยพิษสารเคมีให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แม่ลาออกจากอาชีพสถาปนิก มาใช้ชีวิตเกษตรกร นอกจากทำให้สุขภาพและโรคภัยที่แม่ต้องเผชิญหายไปแล้ว ยังช่วยให้คนรอบข้างมีสุขภาพดีขึ้น (บนซ้าย) รุ้งทอง-ศิวพร (ล่างซ้าย) สมรศรี-รุ้งทอง แม่เปิดสวนเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี ก่อตั้งโครงการปลูกเปลี่ยนโลก (โรค) โดยรวบรวมคนในพื้นที่ให้หันมาใส่ใจอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำ แม่สอนให้ลูกรับผิดชอบในหน้าที่ ปัจจุบันลูกมีอาชีพเป็นหมอ แต่ได้ช่วยส่งเสริมกิจกรรมของแม่ โดยหวังว่าการไม่พึ่งพาสารเคมี ทำให้มีคนป่วยน้อยลง สังคมห่างไกลโรค แม่เชื่อว่าการสร้างนิสัย “กินดี ทำให้สุขภาพดี” แม่สมรศรี พันธุ์สอิ้ง จังหวัดสุพรรณบุรี แม่เน้นรักษาความสะอาดให้ชุมชน เริ่มจากคัดแยกขยะ ทำน้ำหมักชีวภาพช่วยให้ขยะย่อยสลายได้ง่ายขึ้น และช่วยบำบัดน้ำเสีย แนะนำให้สถานประกอบการในชุมชนจัดการน้ำเสีย ด้วยบ่อดักไขมัน แม่อนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น ประสานงาน “ชมรมรักษ์ผีเสื้อ” ดูแลและขยายพันธุ์ผีเสื้อ เพราะบริเวณใดมีผีเสื้อ แสดงว่าบริเวณนั้นมีสิ่งแวดล้อมดี แม่ปลูกฝังให้ลูกรักธรรมชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมจิตอาสาด้านต่างๆ แม่เป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม คิดสร้างสรรค์ เพื่อส่วนรวม และเพื่อชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ และเข้มแข็งอย่างยั่งยืน แม่รุ้งทอง ภูเขาใหญ่ จังหวัดพิจิตร แม่ริเริ่มทำนาอินทรีย์ ปลูกพืชหมุนเวียน ไม่ใช้สารเคมี จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แม่ได้รับใบรับรองข้าวไรซ์เบอรี่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/USDA และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่มาศึกษาดูงาน แม่เสียสละมอบที่นาให้โรงเรียนได้ทำนาชั่วคราว และเป็นแปลงเรียนรู้สำหรับนักเรียนและผู้ปกครองใช้ทำนาอินทรีย์ เพื่อเป็นอาหารกลางวันนักเรียน ทั้งนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากขายข้าวเป็นทุนการศึกษา “เด็กดีศรีบรเพ็ด” แม่ฝึกลูกให้ทำนาและทำสวนแบบอินทรีย์ สอนให้ลูกเข้าใจโทษของสารเคมีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ลูกจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำนาอินทรีย์ พร้อมชักชวนชาวบ้านให้หันมาทำนาอินทรีย์ ลูกได้สานต่อเจตนารมณ์ของแม่ เพราะเห็นถึงการทำงานของแม่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน ************************************* รางวัล “แม่ 100 ปี” จัดขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่แม่ที่มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี และเพื่อเป็นข้อมูลวิชาการทางประชากรศาสตร์เกี่ยวกับความยืนยาวชีวิตของประชากรไทย รวมทั้งเป็นข้อมูลให้ศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตการดูแลสุขภาพกายและใจของแม่ที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นหลัง โดยปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 125 รายจากทั่วประเทศ มีผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัล 6 ราย ดังนี้ แม่ 100 ปี ภาคเหนือ -แม่มูล สุวรรณ อายุ 102 ปี จังหวัดลำพูน แม่มีลูก 9 คน ลูกคนโตอายุ 81 ปี ลูกคนสุดท้องอายุ 59 ปี อาชีพเดิมทำสวนลำไย ทำไร่ข้าวโพด ปัจจุบันอาศัยอยู่กับลูกสาวคนเล็ก แม่มีสุขภาพดี อารมณ์ดี ชอบสวดมนต์ แม่ชอบรับประทานอาหารพื้นบ้าน เช่น ลาบหมู ตำเตา (สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งนำมายำ) ไม่ชอบรับประทานผัดกะเพรา แม่มักให้พรลูกหลานเสมอเมื่อเห็นลูกหลานมาหาที่บ้าน แม่ 100ปี ภาคอีสาน -แม่หลง พรหมสกุล อายุ 107 ปี จังหวัดนครราชสีมา แม่มีลูก 8 คน ลูกคนโตอายุ 80 ปี คนเล็กอายุ 60 ปี อาชีพเดิมทำไร่ข้าวโพดไร่มัน สุขภาพแข็งแรง สายตามองเห็นได้ดี สนเข็มเย็บผ้าได้ แม่เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส ชอบทานปลาทอด หมูปรุงสุกแบบลาบแห้งๆ ผักลวกจิ้มน้ำพริก ปัจจุบันอาศัยอยู่กับลูกสาวคนที่ 3 โดยมีลูกหลานอาศัยอยู่ใกล้เคียง หมั่นแวะเวียนมาดูแล (จากบนซ้าย) จันทร์-จำรัส-มูล (ล่างจากซ้าย) วันที-หลง-อิ้น แม่ 100 ปี ภาคอีสาน-แม่วันที สูปะเก อายุ 102 ปี จังหวัดนครราชสีมา แม่มีลูก 5 คน ลูกคนโตอายุ 78 ปี คนเล็กอายุ 65 ปี สุขภาพแข็งแรง เดินได้ ลุก นั่งสะดวก ไม่ชอบอยู่นิ่ง ผ่าฟืนตัดไม้ไว้ก่อไฟทำอาหารเอง เคยทำงานเลี้ยงควาย ชอบทานตับไก่ ปลา ที่ชอบที่สุด คือ น้ำพริกผักลวก มะม่วงสุก กล้วย แม่ชอบพูดคุย จำลูกหลานได้ดี ปัจจุบันเริ่มใช้ Walker ค้ำเดิน เพราะแม่ระวังตัวเองเพื่อไม่ให้ล้ม แม่ 100 ปี ภาคกลาง -แม่จันทร์ วัฒนธรรม อายุ 105 ปี จังหวัดสิงห์บุรี แม่มีลูก 4 คน ลูกคนโตอายุ 83 ปี อาชีพเดิมทำไร่ปลูกถั่วลิสง ปัจจุบันอยู่กับลูกสาวและหลานสาว สุขภาพดี ไม่เคยหาหมอ สายตาดี หูฟังชัดเจน ความจำดี แม่ชอบสวดมนต์ รับประทานอาหารได้ทุกอย่าง อารมณ์ดี แม่ 100 ปี ภาคใต้- แม่อิ้น จันทมุณี อายุ 105 ปี จังหวัดสงขลา แม่มีลูกสาว 2 คน คนโตอายุ 76 ปี คนเล็กอายุ 72 ปี อาชีพเดิมทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่กับลูกสาวทั้ง 2 คน สุขภาพแข็งแรง ความจำดี ชอบพูดคุยกับลูกหลาน อาบน้ำเข้าห้องน้ำเองได้ รับประทานอาหารเอง อาหารที่ชอบคือ ปลา ผลไม้ที่ชอบคือ แตงโม และ กล้วย ไม่ทานเค็มจัด หวานจัด กะทิ และของมัน ชอบเดินออกกำลังกายรอบบ้าน ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีปวดสะโพกบ้างเนื่องจากเคยเดินสะดุดอวนหกล้ม แม่ 100 ปี กรุงเทพมหานคร -แม่จำรัส รัชตะชาติ อายุ 102ปี แม่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกเอง จึงไม่ได้ประกอบอาชีพใด แม่มีลูกสาวเพียงคนเดียว ปัจจุบันอาศัยอยู่กับลูกสาว แม่อารมณ์ดี สุขภาพแข็งแรง สายตาดี หูฟังชัด สุขภาพฟันดี ชอบไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน รับประทานอาหารได้ทุกชนิด แม่จะสอนลูกเสมอว่า ให้เป็นคนดีทั้งทางโลกทางธรรม ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกอย่างก็จะดีเอง