"วราวุธ" สั่ง "ปลัดทส." นำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล-กรมทรัพยากรน้ำ ลุยอีสาน เร่ง เจาะน้ำบาดาล แก้วิกฤตภัยแล้ง เมื่อวันที่ 11 ส.ค.62 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงกรณีแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งในหลายจังหวัด โดยเฉพาะสุรินทร์และบุรีรัมย์ ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำ และ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เร่งลงพื้นที่จ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ โดยให้ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานงานใกล้ชิด กับ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยทุกโรงพยาบาลในพื้นที่ หาแหล่งน้ำ และขุดเจาะน้ำบาดาล เพิ่มเติม โดยหาข้อมูลว่าโรงพยาบาลใดต้องการบ่อบาดาล ทส. จะเร่งส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจและขุดเจาะให้กับทุกโรงพยาบาลที่สาธารณสุขต้องการ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและความปลอดภัยของแต่ละโรงพยาบาลถือเป็นเรื่องสำคัญ รมว.ทส. กล่าวว่า แต่เดิมจ.สุรินทร์ ใช้น้ำจาก แหล่งน้ำ 2 แหล่ง คือ ชลประทาน กับเอกชน เกษตรกรใช้น้ำจากแหล่งดังกล่าวมาก จึงได้สั่งการปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งสำรวจ ในพื้นที่จ.สุรินทร์ว่าในแต่ละอบต.นั้น มีศักยภาพเรื่องน้ำ มีต้นทุนน้ำใต้ดินมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีก็ให้รีบดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลทันที เพื่อช่วยเกษตรกรและชาวบ้าน เป็นคลาสเตอร์ๆไป 100-200 ไร่ ในแต่ละบ่อๆ ขุดตรงไหนได้เราจะเร่งขุดตามที่นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง นายวราวุธ กล่าวว่า ปีนี้ภาคอีสานพบภัยแล้งหนัก และยังเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทำนาน้ำฝนเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงน่าห่วง ส่วนพื้นที่ภาคกลางก็มีปัญหามาก แต่ยังโชคดีที่ภาคกลางส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน และมีแหล่งน้ำ มีลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงยังพอประทังไปได้ แต่ภาคอีสานเดือดร้อนหนักจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสำรวจขุดเจาะ หาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อช่วยเกษตรกร เชื่อว่าน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการติดตามสถานการณ์ไฟป่าพรุควนเคร็ง จ. นครศรีธรรมราชนั้น ตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ทุกกระทรวงร่วมกันบูรณาการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายนายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นซิงเกิลคอมมานด์ คอยติดตามงานแบบเบ็ดเสร็จพร้อมขับเคลื่อน กับหน่วยงานอื่นๆที่เราต้องประสานงานกัน ทั้งนี้ ทส. ดูแลในส่วนทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ จะได้ทำงานประสานงานกับทางจังหวัด และหน่วยงานอื่นได้ง่ายขึ้น สำหรับการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ต้องขอความร่วมมือจากชุมชนโดยรอบป่าพรุ ช่วยดูแลสอดส่อง เพราะในบางครั้งมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีจุดไฟขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใดก็แล้วแต่ จนไม่สามารถควบคุมได้ เพื่อเป็นการป้องกันจึงได้สั่งการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ หากพบเห็นผู้ใดเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่พรุที่ไฟไหม้ ดังกล่าวทางกระทรวงจะดำเนินการทางกฎหมายโดยเด็ดขาด ไม่ยอมให้ใครมารุกพื้นที่ป่าพรุแน่