ศูนย์อำนวยการน้ำแจ้งด่วนเฝ้าระวัง“โขง”หลังจีนลดการระบายน้ำ อีสานยังผันผวนหนักคืนเดียวเพิ่ม 2 ม.เชื่อเหตุจากเขื่อนไซยะบุรี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2562 มีรายงานข่าวว่า ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีหนังสือด่วน ลงวันที่ 9 สิงหาคม เรื่องการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำของเขื่อนจิงหง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึง ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง และผู้ว่าราชการจังหวัดริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาน บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี โดยมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (ฝ่ายจีน) มีหนังสือลงวันที่ 5 สิงหาคม แจ้งเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหง เพื่อบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้า โดยในช่วงวันที่ 5-10 สิงหาคม ระบายน้ำ 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วง 11-15 สิงหาคม จะระบายน้ำ 600-800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังจากนั้นจะเพิ่มการระบายน้ำในระดับปกติ ในหนังสือระบุว่า ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ ได้ติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ระดับน้ำและปริมาณน้ำ เป็น 2 ส่วนคือ 1. ณ สถานีอุทกวิทยาเชียงแสน คาดการณ์ว่าวันที่ 12-15 สิงหาคม ระดับน้ำจะลดลงประมาณ 0.3-0.5 เมตร ช่วงวันที่ 16-19 สิงหาคม น้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3-0.5 เมตร แล้วจะเข้าสู่ภาวะปกติ 2.จากสถานีอุทกวิทยาเชียงคานถึงสถานีอุทกวิทยาโขงเจียม การวิเคราะห์ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลงและเพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงจึงขอให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งนี้ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการทั้ง 8 จังหวัดให้ทราบแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนจิงหงปกติมีประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที การระบายน้ำในปริมาณตามที่ประกาศจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจากจีนลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าปรากฎการที่จะเกิดขึ้น คือการผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนท้ายเขื่อนซึ่งจะไม่เป็นไปตามฤดูกาล ย่อมทำให้เกิดผลกระทบมากมายเกิดขึ้นและสะสมตามมาอย่างแน่นอน “ผมได้พูดมาตลอดในเวทีเสวนาเรื่องปัญหาและผลกระทบของแม่น้ำโขงจากการสร้างเขื่อนในหลายๆครั้งว่าการที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับสูง ได้แต่ขอร้องให้มีการปล่อยน้ำหรือรอรับข้อมูลข่าวสารการปล่อยน้ำจากจีนและลาว อย่างเดียวนั้น ไม่ทันกับสถานการณ์และไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดังนั้นหน่วยงานของรัฐต้องเสนอให้มีการเจรจาพูดคุยกับประเทศในลุ่มน้ำโขงและประเทศเจ้าของเขื่อนอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการเก็บกักน้ำและปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนต้องให้สอดรับกับฤดูกาล เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง”นายนิวัฒน์ กล่าว นายชัยวัฒน์ พาระคุณ ชาวตำบลบ้านม่วง จ.หนองคาย กล่าวว่าระดับน้ำโขงที่ผ่านจัังหวัดหนองคายมีความผันผวนมากตั้งแต่สัปดาห์ก่อนโดยได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เมตรภายในคืนเดียว ทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะคนหาปลาซึ่งมีเรือจมหายไป 4 ลำ ส่วนอีก -6-7 ลำหลุดมาตามลำน้ำแต่ชาวบ้านช่วยกันจับไว้ได้ และหลังจากนั้นอีกเพียง 2 วันน้ำได้ลดลง 50 เซ็นติเมตร และค่อยๆลดลงเรื่อยๆจนกระทั่งล่าสุดได้ลดลงแล้วกว่า 2 เมตร “ความผันผวนของปริมาณน้ำได้สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้าน ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังทดลองการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นมีใครออกมาชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆคือปริมาณน้ำที่ผันผวนครั้วนี้นี้ไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติแน่ๆ เพราะไม่เคยมีมาก่อนที่ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในคืนเดียว 2 เมตร ที่สำคัญคือน้ำที่ไหลมาเป็นน้ำที่ใส หากเป็นน้ำฝนตามธรรมชาติจะมีสีขุ่น”นายชัยวัฒน์ กล่าว