เป็นเรื่องร้อนที่กระทรวงคมนาคมต้องแก้ไขปัญหาให้จบโดยเร็ว และต้องไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล ในการแก้ไขฝั่งอยู่ใต้ดินกระทรวงคมนาคมมานาน แทนที่จะเร่งแก้ไข กลับปล่อยให้ยืดเยื้อมานาน จะวันนี้ยากที่จะแก้ไข แต่ก็ต้องทำเผื่อป้องกันผลประโยชน์ของชาติ กับ “ค่าโง่” ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ “เมกะโปรเจกต์” ร่วมกับภาคเอกชน เพราะเงินที่จ่ายเป็นค่าโง่นั้น คือ เงินภาษีของประชาชนอย่างพวกเราๆ ! เมื่อไม่นานมานี้ “ดร.มานะ นิมิตรมงคล” เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กที่น่าสนใจ ในหัวข้อเรื่อง ถอดสมการ “ค่าโง่” เมกะโปรเจคโดยมีเนื้อหาดังนี้ “หลายท่านคงเหมือนผมที่ยังค้างคาใจทุกครั้งเมื่อเจอคำว่า “ค่าโง่” ที่รัฐจะต้อง “จ่าย” เป็นเงินจำนวนมหาศาลยามเพลี่ยงพล้ำเสียทีในการทำโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ “เมกะโปรเจกต์” ร่วมกับภาคเอกชน เพราะเงินที่จ่ายเป็นค่าโง่นั้น คือ เงินภาษีของประชาชนอย่างเราๆ !” เช่นเดียวกับ “ดร.ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์” ผู้รอบรู้ท่านหนึ่งในแวดวงการบริหารงานภาครัฐ แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า “การที่ประเทศไทยขาดการลงทุนในเมกะโปรเจคมานาน แล้วมาทุ่มลงทุนจำนวนมากในช่วงนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่คนของรัฐจะถูกครอบงำโดยเอกชน และเกิดคอร์รัปชัน เนื่องจากขาดทักษะการกำกับดูแลโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อน” ดังนั้น...จริงหรือที่รัฐเสียท่าเอกชนเพราะคนของรัฐ “ขาดทักษะ” มองย้อนไปในอดีต ข้อมูลการลงทุนโครงการที่เป็น “การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนฯ” หรือ พีพีพี ระหว่างปี พ.ศ. 2523 - 2557 มีเพียง 34 โครงการ หรือเฉลี่ยปีละ 1 โครงการ แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2558 - 2562 มีมากกว่า 66 โครงการ เฉลี่ย 13 โครงการต่อปี มูลค่ารวม 1.66 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง มากถึงร้อยละ 57 ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมโครงการขนาดการลงทุน 1,000-10,000 ล้านบาทที่รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจลงทุนเอง ทั้งนี้โครงการที่ถือว่าสร้างชื่อคำว่า “ค่าโง่” ให้กระทรวงคมนาคม และเป็นจุดที่ต้องทำให้มีการตรวจสอบค่าโง่ในโครงการอื่นๆ คือ “ค่าโง่โฮปเวลล์” ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จ่ายค่าเสียหายให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน ซึ่งคณะอนุกรรมการประเมินค่าเสียหายประเมินวงเงินที่ รฟท.ต้องจ่ายรวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2551 (วันที่อนุญาโต ตุลาการชี้ขาด)ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2562 วงเงินรวม 25,411 ล้านบาท ตามมาด้วย “ข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ครอบคลุม 17 คดี” มีการเจรจาลดมูลค่าข้อพิพาทจาก 137,517 ล้านบาท เหลือ 58,873 ล้านบาท เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด 30 ปี ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องส่งแนวทางการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้วนั้น โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ได้ลงนามแต่งตั้ง “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเพื่อศึกษาและจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าโง่ทางด่วนจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายแก่บีอีเอ็ม โดยจะไปศึกษาการดำเนินงานในโครงการ การจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) และการปฏิบัติตามสัญญาว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องนำเสนอแนวทางในการการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องสรุปเสนอกลับมาให้พิจารณาภายใน 15 วัน เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสมได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ “ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งงานแล้วก็ตาม แต่ผมกับรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 ท่าน ก็จะช่วยกันดูแลงานคมนาคม โดยเน้นทุกด้านต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและพัฒนาประเทศชาติ ย้ำเรื่องค่าโง่จะต้องไม่มี” ล่าสุดมากระแส “ค่าโง่” เรื่องใหม่เกิดขึ้นอีกเรื่อง โดยมีข่าวว่า “กรมทางหลวง”เตรียมจะเปิดประมูลโครงการ “ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทางประมาณ 109 กิโลเมตร”โดยให้เอกชนร่วมลงทุนด้วย ซึ่งถือเป็นการให้สัมปทานแก่เอกชน ทั้งนี้แผนแม่บทมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ ประกอบด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์เป็นระยะทางรวม 4,150 กม. เปิดใช้แล้ว 217.5 กม. กำลังก่อสร้าง 350 กม. ดังนั้น เหลือมอเตอร์เวย์ที่จะต้องก่อสร้างอีกเป็นระยะทาง 3,582.5 กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ที่ผ่านมาเป็นการลงทุนโดยรัฐทุกสาย บางสายใช้เงินงบประมาณ บางสายใช้เงินกู้ และบางสายใช้เงินสะสมที่เก็บจากค่าผ่านทางมาช่วยด้วย ไม่มีสายใดที่ให้เอกชนลงทุนหรือร่วมลงทุน เป็นผลให้ค่าผ่านทางหรือค่ามอเตอร์เวย์ไม่แพง แต่ปัจจุบัน การลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์กำลังจะเปลี่ยนจากรัฐลงทุนเองทั้งหมด เป็นรัฐกับเอกชนร่วมกันลงทุน โดยจะเริ่มจากการลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำที่มีวงเงินโครงการ 79,006 ล้านบาท โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเวนคืนที่ดินเป็นเงิน 18,291 ล้านบาท ส่วนเอกชนจะต้องรับผิดชอบค่าก่อสร้างงานโยธา (ถนน สะพาน และที่พักริมทาง) วงเงิน 53,148 ล้านบาท และค่าก่อสร้างงานระบบ (เช่น ระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และศูนย์ควบคุมการจราจร) และค่าควบคุมงานเป็นเงิน 7,567 ล้านบาท ส่วนค่าก่อสร้างงานโยธานั้น เอกชนสามารถขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐได้ไม่เกินวงเงิน 53,148 ล้านบาท เอกชนรายใดขอเงินอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุดก็จะมีโอกาสได้รับงาน งานนี้ร้อนถึงนายกฯ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ต้องออกมาดับร้อนด้วยการขอทุกคนใจเย็น อย่างเรื่องให้รัฐบาลลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้กับคนกรุงเทพฯ ก็ต้องไปดูว่าค่ารถไฟฟ้าเกิดมาด้วยเหตุผลอะไร ,มีการทำสัญญาผูกพันอะไร ,พิจารณาคนขึ้น-ลง ,การลงทุนต้นทาง และข้อสำคัญเป็นเรื่องของสัญญา โดยเฉพาะการลงทุนของเอกชน ถ้าแก้ไขผิดวิธี ก็จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เคยเกิดคือเสียค่าโง่ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องหาวิธีการแก้ หากจะลดก็ต้องมาดูว่าลดไหร่ท่าไหร่ และลดในส่วนไหน ถ้าบอกว่าลดตลอดทั้งสาย แล้วต้นทางก็ลดลงอีก จะเอารายได้ที่ไหนมาบริหารจัดการ แล้วจะวิ่งได้อย่างไร เพราะอนาคตเมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะมีเรื่องการเสียและชำรุด ทั้งหมดจึงต้องดูความเหมาะสมไม่ได้หมายความว่าจะไม่ลด แต่ทุกอย่างต้องดูหลักการและเหตุผลว่าเป็นไปได้หรือไม่ “เพราะเมื่อมีการลงทุนอะไรสักอย่าง และคาดการณ์ว่าธุรกิจจะสามารถเลี้ยงตนเองได้ขนาดนี้ พอถึงเวลาก็บอกให้ลดราคาลงทั้งหมด ในข้อเท็จจริงราคาของในตลาดจะลงทีเดียวทั้งหมดไม่ได้ เรื่องนี้ก็ต้องหารือกันก่อนขอให้ใจเย็นๆ วันนี้เขามีทางเลือกไว้ให้ จะลดราคาหรือไม่ลดราคาก็มีทางเลือกในการเดินทางทั้งรถ ทั้งเรือ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะขึ้นรถไฟฟ้าทั้งหมด ก็สามารถใช้ตามกำลังที่มีไปก่อน วันนี้อะไรลดได้เราก็ลด วันข้างหน้าหากมีกำไรมากขึ้นก็ค่อยลดลง ทั้งถนน ค่าทางด่วนอะไรต่างๆ ต้องพิจารณากันทั้งหมดโดยคณะกรรมการที่รับผิดชอบ วันนี้เราจะตัดสินด้วยตนเองไม่ได้ ผมไปประกาศเองก็ไม่ได้”นายกฯกล่าว งานนี้ต้องจับตาในการวัดใจเจ้ากระทรวงคมนาคมว่าจะแก้ปัญหา “ค่าโง่” ได้จริงหรือ!?!