ยกให้เป็น “พื้นที่อ่อนไหว” ที่ใครๆ ก็อยากได้ไว้ครอบครองที่สุด ณ ชั่วโมงนี้ สำหรับ “ทะเลจีนใต้” น่านน้ำที่คาบเกี่ยวระหว่างภูมิภาค “เอเชียตะวันออก” กับ “เอเชียตะวันออกเฉลียงใต้” ที่หลายฝ่าย ต่างมีใจถวิลครอบครอง จนส่งผลให้กลายเป็น “น่านน้ำเจ้าปัญหา” นำมาซึ่งปัญหาเป็นกรณีพิพาทระหว่างกัน โดยเหล่าชาติผู้ขัดแย้ง ก็ประกอบด้วย จีนแผ่นดินใหญ่ ในฐานะคู่ปรปักษ์หลัก บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไต้หวัน ก่อนบานปลายไปถึงอินโดนีเซีย ที่จำต้องร่วมวงไพบูลย์ เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ จ้องฮุบหมู่เกาะของอินโดนีเซีย เป็นของตนไปด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมีมหาอำนาจชาติพี่เบิ้มมาร่วมแจม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ทั้งนี้ ก็ด้วยทะเลดังกล่าว มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการเดินเรือ ที่ลำเลียงสินค้าผ่านทางทะเล คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี นอกจากนี้ ก็ยังเชื่อว่า ทะเลจีนใต้ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน ซึ่งก็คือ น้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมธรรมชาติ ปริมาณมหึมา ที่นอนรอให้บรรดาธุรกิจด้านพลังงานทั้งหลาย ได้ขุดเจาะนำไปแปลงสินทรัพย์เป็นเม็ดเงิน ซึ่งได้รับการคาดหมายว่า มีจำนวนมหาศาล ด้วยประการฉะนี้ หลายฝ่ายจึงหมายปองที่จะครอบครอง หรือจับจองเป็นเขตอิทธิพลของตน ที่นับว่า “เล่นใหญ่” กว่าชาติใด ก็เห็นจะเป็น “พญามังกร-จีนแผ่นดินใหญ่” ที่ถึงขนาดลงทุน “ถมเกาะ” เพื่อสร้าง “เกาะเทียม” ก่อนผุดสิ่งปลูกสร้างทั้งทางพลเรือน และทางทหาร ซึ่งไม่ผิดอะไรกับ กับการปักหลัก ปักหมุด แสดงกรรมสิทธิ์ครอบครองว่า พื้นที่นี้ใครจอง ชาติอื่นอย่าแตะ การสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมกันนี้ จีนแผ่นดินใหญ่ ก็ส่งกองเรือประมง มายังน่านน้ำพิพาท โดยตระเวนเพ่นพ่านยังหมู่เกาะของชาติคู่พิพาท อย่าง “อินโดนีเซีย” ที่ “หมู่เกาะนาทูนา” เมื่อช่วงก่อนหน้า จน “ทางการจาการ์ตา” ต้องส่งเสียงก่นประณาม และ “เกาะทิตู” หรือ “เกาะปักอาซา” ของ “ฟิลิปปินส์” เมื่อไม่นานมานี้ “เกาะทิตู” หรือ “เกาะปักอาซา” ที่เรือประมงจีน รุกล้ำเข้ามาจับสัตว์น้ำ โดยในประเด็นของเกาะทิตู หรือปักอาซา ของฟิลิปปินส์นั้น ได้สร้างเกรี้ยวกราดโกรธาแก่บรรดาประชาชาวตากาล็อกเป็นที่ยิ่ง เพราะถึงขนาดสำรวจความคิดเห็น หรือทำโพลล์ ของประชาชี เพื่อจุดพลุปลุกกระแสชาตินิยม พร้อมๆ กับการเรียกร้องต่อทางรัฐบาลมะนิลาชุดปัจจุบัน ให้ดำเนินการอะไรสักอย่างกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ มีรายงานว่า ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ จำนวนถึงร้อยละ 87 เห็นว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำของพวกเขา ควรที่จะดำเนินการจัดการกับพวกเรือประมงจีนที่มาล้ำน่านน้ำถึงในเกาะดังกล่าว ใช่แต่เท่านั้น กลุ่มตัวอย่างชาวตากาล็อกที่ตอบแบบสอบถามข้างต้น ยังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีดูเตร์เต ดำเนินการอย่างจริงจังต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ตามคำสั่ง “ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” หรือ “พีซีเอ” ที่ระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่มีสิทธิ์ตามคำกล่าวอ้างทางประวัติศาสตร์ ในการครอบครองเหนือหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ หรือทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ตามชื่อของฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ปล่อยให้จีนแผ่นดินใหญ่ แสดงอำนาจบาตรใหญ่ในดินแดนดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว ฉายเดี่ยว ดังที่เป็นอยู่ โดยผลโพลล์ที่ออกมา ก็สร้างความหนักอก หนักใจ ให้แก่ประธานาธิบดีดูเตร์เต ที่กำลังจะมีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นครั้งที่ 5 ในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ หาน้อยไม่ ว่าจะดำเนินยุทธศาสตรกันอย่างไร ไม่ให้เกิดสงครามกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ฟิลิปปินส์ ตกเป็นรองในทุกๆ ด้าน และในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องรักษาคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนชาวตากาล็อกเอาไว้ให้ได้ ควบคู่ไปกับอาณาเขตดินแดนในทะเลจีนใต้ ก็จะต้องมิให้เสียแก่จีนแผ่นดินใหญ่ไปด้วยเช่นกัน ท่ามกลางการรุกอย่างขนานใหญ่ของพญามังกรจีน ณ เวลานี้ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ ให้การต้อนรับ ล่าสุด ในปฏิบัติการแห่งการพิพาทนอกจากมีปฏิบัติการตามข้างต้นแล้ว ก็ปรากฏว่า ทางจีนแผ่นดินใหญ่ ได้มีปฏิบัติการโจมตีผ่านทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “สงครามไซเบอร์” กับฟิลิปปินส์ ตามการเปิดเผยของ “เอนซิโล” ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางระบบคอมพิวเตอร์ ระบุว่า “แอดวานซ์ เพอร์ซิสเทนท์ ธรีท กรุป เท็น” หรือ “เอพีที10” ของจีนแผ่นดินใหญ่ ได้พัฒนาโปรแกรมแบบมัลแวร์ “สายลับ” โจมตีเว็บไซต์ทั้งของทางรัฐบาลและบรรดาธุรกิจเอกชนของฟิลิปปินส์ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา กลุ่ม “แอดวานซ์ เพอร์ซิสเทนท์ ธรีท กรุป เท็น” หรือ “เอพีที10” ของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เข้าไปโจมตีทางไซเบอร์ต่อฟิลิปปินส์ นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว ก็ปรากฏว่า เว็บไซต์ทั้งของทางรัฐบาลเวียดนาม และธุรกิจเอกชนในแดนญวน ก็ถูกโจมตีทางไซเบอร์จากจีนแผ่นดินใหญ่ ในลักษณะคล้ายๆ กัน เมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน ซึ่งทั้งฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญ และดำเนินการต่อต้านอย่างหนักในการครอบครองน่านน้ำทะเลจีนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยสถานการณ์ที่บังเกิดขึ้น เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ปฏิบัติการเผชิญหน้า ได้ขยายวงไปสู่การปะทะกันทางไซเบอร์ เป็นสงครามทางออนไลน์ ที่สั่นไหวเขย่าขวัญทะเลจีนใต้ไปทั่วทั้งน่านน้ำ