"วิศวกรกรมทางหลวง"​ถูกฟ้องคดีเอื้อ 3 บริษัทค้าน้ำยางพาราทำถนน ร้องขอความเป็นธรรม ชี้"กยท."ส่งตรวจผิดขั้นตอน เตือนแล้วไม่ฟัง ทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี พร้อมระบุถ้า 3 บริษัทเอาตัวอย่างน้ำยางส่งกรมทางหลวงตรวจไม่น่าผ่านมาตรฐานการรับรอง กรณี น.ส.สุพัตรา นามลักษณ์ และ น.ส.ช่อฉัตร โตชูวงศ์ กรรมการบริษัท เอส.พี. ก่อสร้างรุ่งเรืองจำกัด ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อเอาผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 10 คน ในกรรมการพิจารณาการรับรองมาตรฐานวัสดุนายางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่พิจารณาการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางฯ เอื้อให้กลุ่มทุน 3 บริษัทผูกขาดขายน้ำยางทำถนนดินผสมยางพารา อาจเข้าข่ายล็อคสเป็ก ล่าสุด นายพรหมมา เทพศรีหา วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ ส่วนวิเคราะห์วัสดุทางวิศวกรรม สำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง ในฐานะอนุกรรมการพิจารณาเอกสารการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราฯ หนึ่งในข้าราชการที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ออกมาชี้แจงขอความเป็นธรรมว่าในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการรับรองมาตรฐานฯ ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ตนเองได้โต้แย้งว่าการไปเก็บตัวอย่างน้ำยางพารา ไม่เป็นไปตามประกาศเรื่องหลักเกณฑ์เฉพาะ และขั้นตอนตามคู่มือการปฏิบัติงานการควบคุมคุณภาพและรับรองมาตรฐานวัสดุสำหรับงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (ยางพารา) โดยคณะกรรมการฯ ที่ร่วมประชุมในวันดังกล่าวทราบดี แต่กรรมการที่เกี่ยวข้องกับการเก็บตัวอย่างอ้างว่าที่ส่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เพราะห้องปฏิบัติการกรมทางหลวง ไม่พร้อม ซึ่งในขณะนั้นคณะกรรมการยังไม่ได้ส่งหนังสือมาสอบถามเรื่องความพร้อมของห้องปฏิบัติการทดสอบของกรมทางหลวงแต่อย่างใด ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ไม่ส่งตัวอย่างตรวจที่กรมทางหลวง ซึ่งความพร้อมของอุปกรณ์, ขั้นตอนการทดสอบทางวิศวกรรมที่มีมาตรฐาน และบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องวัสดุที่ทำถนน แต่ไปใช้ มทส. อาจมีเจตนาช่วยเหลือผู้ประกอบการบางกลุ่มบางราย ให้ผ่านการทดสอบ นอกจากนี้การออกไปตรวจกระบวนการและเก็บตัวอย่างโดยพละการเอง ไม่แจ้งอนุกรรมการชุดที่ 1 อาจเนื่องจากต้องการที่จะปกปิดกรรมการคนอื่น กรณีที่บริษัททั้ง 3 คือคือ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด, บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทยอีลาสโตพลาส จำกัด มีสำนักงานและโรงงานอยู่ที่เดียวกัน จากการตรวจเอกสารรายงานผลการทดสอบแล้ว พบว่ามีพิรุธ น่าสงสัย เกี่ยวกับกระบวนการตรวจทดสอบทางวิศวกรรม ว่าการออกแบบส่วนผสม (Job Mix Formula หรือ JMF) ในครั้งแรก ต้องทดสอบหา Atterberg Limits ขนาดคละ ทำการบดอัดทำก้อนตัวอย่างเพื่อหาปริมาณน้ำหรือความชื้นที่เหมาะสม (OMC), บดอัดทำก้อนตัวอย่างเพื่อหาปริมาณปูนซีเมนต์ (ต้องบ่ม 7 วัน) และ นำปริมาณปูนซีเมนต์ที่ได้มาผสมบดอัดทำก้อนตัวอย่างเพื่อหาปริมาณน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มที่เหมาะสม (ต้องบ่ม 7 วัน) แล้วนำปริมาณปูนซีเมนต์ และน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มที่ได้ มาผสมบดอัดทำก้อนตัวอย่างเพื่อทำก้อน ต้องบ่ม 7 วัน จึงทดสอบ UCS, ITS และ RM ซึ่งต้องใช้เวลาระหว่าง 20-30 วัน แต่จากผลการออกแบบส่วนผสมในครั้งแรก รวมทั้งการทดสอบทางวิศวกรรมของ มทส. ใช้เวลาเพียง 8 - 9 วัน (วันที่ 23 มีนาคม – 2 เมษายน 2562) เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักทางวิศวกรรม แล้วผลที่ออกมาทั้งหมดจะถูกต้องได้อย่างไร เชื่อว่า หากนำตัวอย่างน้ำยางผสมสารฯ ของผู้ที่ผ่านการทดสอบทั้ง 3 รายข้างต้น มาทำการทดสอบทางวิศวกรรม ตามมาตรฐานวิธีการทดสอบทางวิศวกรรม (ตามที่กำหนดตามคู่มือฯ) ที่กรมทางหลวง หรือที่ห้องทดลองของมหาวิทยาลัยอื่นซึ่งได้ทราบมาว่าสามารถทดสอบได้ น่ามีผลการทดสอบที่แตกต่างจากของ มทส. และอาจไม่ผ่านการทดสอบเลยก็ได้ สำหรับมติต่าง ๆ ที่ปรากฏในรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาฯ ไม่ได้มีการโหวต หรือให้ผู้โต้แย้งหรือคัดค้านทำหมายเหตุไว้ โดยทุกครั้งรายงานการประชุมจะจัดทำโดย น.ส.สุภิญญา โคตรมา หัวหน้ากองมาตรฐานอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ (รวมทั้งเป็นอนุกรรมการและเลขาอนุกรรมการทุกชุดด้วย) ซึ่ง น.ส.สุภิญญาฯ จะทำรายงานในลักษณะสรุปมติโดยไม่มีรายละเอียด หรือมีแต่บางส่วน ทั้งที่กรรมการบางคนหรือข้าพเจ้าโต้แย้งไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้หมายเหตุไว้ ส่วนสาเหตุที่ผลการทดสอบของ บ.เอส.พี.ฯ ไม่ผ่าน เพราะคณะกรรมการให้ทำก้อนตัวอย่างทดสอบโดยใช้น้ำยางฯ ลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง จากที่ใช้ประมาณ 4 ลิตรต่อ 1 ตารางเมตร ความหนาชั้นทาง 15 ซ.ม. กลับใช้น้ำยาง 2 ลิตรต่อตารางเมตร (ตามที่ราคากลางกำหนด) ซึ่งโรงงานผู้ผลิตจะต้องปรับสูตรน้ำยางใหม่แล้วเก็บตัวอย่างใหม่ก่อนมาทำก้อนตัวอย่างทดสอบ แต่ทางคณะกรรมการฯ ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงงานทราบจึงไม่ได้มีการปรับสูตรน้ำยางใหม่ และคณะกรรมการไม่ได้มาเก็บตัวอย่างน้ำยางใหม่ แต่กลับใช้ตัวอย่างน้ำยางเดิมมาทำก้อนตัวอย่างทดสอบ จึงทำให้ผลการทดสอบไม่ผ่าน แต่เมื่อสอบถามไปยังรองผู้ว่าการยางท่านหนึ่ง กลับได้คำตอบว่า แจ้งแล้ว แต่ในความเป็นจริง คือ ไม่มีหลักฐานหรือหนังสือใดแจ้งให้ทางโรงงานได้ทราบ จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คณะกรรมการฯ บางคนได้มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์เฉพาะฯ, คู่มือการปฏิบัติงานฯ โดยเจตนาและจงใจ จนผู้ประกอบการรายอื่นไม่ผ่านการทดสอบ, หลังจากมีการออกใบรับรองฯ ก็มีข่าวว่ามีการทำหนังสือเวียนหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยไม่กระทำตามระเบียบงานสารบรรณ และไม่ใช่หน้าที่ของตน จนทำให้หน่วยงานราชการบางหน่วยได้ออกข้อกำหนดขอบข่ายงาน (TOR) เพื่อให้ผู้เสนอราคาในโครงการทำถนนดังกล่าว ต้องซื้อน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มฯ จากบริษัทที่ได้รับการรับรองฯ ในราคาสูง ในลักษณะผูกขาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เกิดการสมยอมราคากันระหว่างผู้เสนอราคา อันทำให้รัฐและประชาชนอื่นได้รับความเสียหาย