เกษตรกร ชาวตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ จากเดิมเคยทำนาโดยใช้สารเคมีติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลเสียทำให้ดินมีความเสื่อมโทรม และขาดความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนกระทั่งชาวบ้านได้เข้าร่วมกับโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ของมูลนิธิชัยพัฒนาและได้มีการพูดคุยประชุมกันในกลุ่ม โดยเริ่มจากแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะสามารถผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น และได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ มาให้ความรู้ในเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พันธุ์ดี ตลอดจนการให้คำแนะนำการดูแลรักษาดินและวิธีการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร นางสาวเบญจวรรณ นานรัมย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ กล่าวว่า ทางสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ ได้เข้ามาให้ความรู้ ให้คำแนะนำในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน เนื่องจากว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวมีผลผลิตที่ได้ค่อนข้างตกต่ำ ทีนี้ก็เลยเข้ามาดูปัญหาว่าเกิดจากอะไร โดยการเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อที่จะหาค่าความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้วก็ปัญหาของดินว่าดินที่ปลูกข้าวตรงนี้มีปัญหาอะไรบ้าง เราจะปรับปรุงบำรุงแก้ไขยังไง ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจ ก็พบว่าดินที่นี่เป็นดินกรด ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื่องจากไม่เคยมีการปรับปรุงบำรุงดิน ทางสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์ ก็เลยแนะนำให้ใช้ปูนโดโลไมท์เพื่อปรับปรุงดินกรด โดยการนำมาใส่ในแปลงนาร่วมกับการใช้ปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพและก็การปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้าน นายเกียรติ อาจภักดี ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านเกาะแก้ว กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีการประชุมกลุ่มพิจารณาในการปรับปรุงพัฒนาดิน เนื่องจากว่าดินมีความเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด โดยนำดินส่งตรวจที่สถานีพัฒนาที่ดิน ก็ไปวิเคราะห์พบว่าดินในหมู่บ้านเกาะแก้วทั้ง 2 หมู่ โดยเฉลี่ยแล้วอัตราความเป็นกรดเป็นด่างหรือว่าค่า pH อยู่ที่ 3.5 ถึง 4.7 ซึ่งสูงมาก ดินเป็นกรดอย่างรุนแรง ก็เลยเริ่มรณรงค์เกี่ยวกับการไถกลบตอซัง ซึ่งไม่ให้พี่น้องสมาชิกเกษตรกรในบ้านเกาะแก้วเผาต่อซังแต่ให้หันมาไถกลบอย่างเดียว หลังจากไถกลบตอซังแล้วเราก็พัฒนาที่ดินโดยการนำพืชบำรุงดิน มาปรับปรุงอย่างเช่น เราให้หวานกว่าถั่วพร้า หว่านปอเทือง เพื่อปรับปรุงดิน นอกจากสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์จะเข้ามาส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยหมัก จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และน้ำหมักชีวภาพ จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและส่งผลให้ข้าวเจริญเติบโตงอกงามไม่เป็นอันตรายทั้งต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ขณะที่ นายสิทธิ์ แสวงสุข เลขานุการกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านเกาะแก้ว กล่าวว่า ในการทำปุ๋ยหมัก ส่วนหนึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากการสำนักงานพัฒนาที่ดินสุรินทร์ อนุเคราะห์วัตถุดิบ เช่นมูลไก่ แกลบ แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็ให้ทางสมาชิกเอามูลโคกระบือ ชาวบ้านจะมาร่วมกันแล้วก็ลงมือลงแรงกันทำ หลังจากนั้นก็แบ่งให้เกษตรกรในหมู่บ้านนำไปใช้ให้ทันฤดูกาลผลิต โดยเรามีมาตรการในการจัดสรร อย่างเท่าเทียมกัน ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ การทำน้ำหมักชีวภาพ ทางสถานีพัฒนาที่ดินก็ส่งเสริมวัตถุดิบให้เช่นกัน จากการเข้ามาส่งเสริมของสถานีพัฒนาที่ดินสุรินทร์จะเห็นได้ชัดว่า กลุ่มเกษตรกรบ้านเกาะแก้ว เป็นกลุ่มที่มีความสามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยเหลือกันภายในกลุ่มเป็นอย่างดี และมีผู้นำกลุ่มที่เข้มแข็งที่จะสามารถพัฒนากลุ่มให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น380-400 กิโลกรัมต่อไร่ นับว่าการพัฒนาที่ดิน การแก้ไขปัญหาของดินกรด การปรับปรุงดินอย่างตรงจุดของเกษตรกรนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก