จากข่าวที่ปรากฏมีการเผยแพร่คลิปข่าว เรือประมง และคนงานในเรือจับปลาโลมาขึ้นบนเรือ และมีการใช้ภาษาไทยสื่อสารกันบนเรือ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งตรวจสอบ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบช.กมค.ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จึงลงพื้นที่ด้วยตนเอง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสืบสวนโดยได้ประสานงานกับกรมประมงและทางการมาเลเซีย พร้อมได้ทำการร้องทุกข์ไว้ตามกฎหมาย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ เผยว่า จากการสอบปากคำเจ้าของเรือเดิม และผู้ที่เกี่ยวข้อง และจากหลักฐานที่ปรากฎตามคลิป พบว่ามีการจับปลาโลมาขึ้นเรือจริง นับ 10 ตัว โดยมีคลิปเสียงและภาพของลูกเรือคนไทย เป็นหลักฐาน ถึงแม้การสอบสวนเบื้องต้นพบว่าเรือลำดังกล่าวได้โอนเป็นสัญชาติอื่น และมีกระทำความผิดเกิดขึ้นในน่านน้ำของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยก็ยังสามารถเอาผิดกับผู้กระทำที่เป็นคนไทยได้ ตามพระราชกําหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พศ.2560 ตาม มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การระหว่างประเทศและอนุสัญญาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วย ให้ถือว่าการกระทําความผิดตามพระราชกําหนดนี้ หรือตามกฎหมายของรัฐชายฝั่ง หรือตามหลักเกณฑ์หรือมาตรการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์หรือมาตรการขององค์การระหว่างประเทศบรรดาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง ไม่ว่าจะกระทําในน่านน้ำไทยหรือนอกน่านน้ำไทยและไม่ว่ากระทําโดยใช้เรือประมงไทย เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย หรือเรือไร้สัญชาติ เป็นการกระทําความผิดในราชอาณาจักรและต้องรับโทษตามที่กําหนดไว้ในพระราชกําหนดนี้ และให้ศาลไทยมีอํานาจ พิจารณาและพิพากษาคดีได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอํานาจ ดําเนินการตามกฎหมายได้ ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง หากความผิดเกิดขึ้นนอกน่านน้ําไทย และการกระทําความผิดนั้น มิใช่เรือประมงไทยหรือผู้มีสัญชาติไทย ให้กระทําได้เมื่อได้รับแจ้งจากรัฐต่างประเทศที่การกระทําความผิดเกิดขึ้น หรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดนั้นแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือขององค์การ ระหว่างประเทศในการดําเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทําความผิดตามพระราชกําหนดนี้ ประกอบกับ มาตรา 66 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจําเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น ซี่งตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามจับหรือนําขึ้นเรือประมง พ.ศ. 2559 ข้อ 2 กําหนดให้สัตว์นํ้าชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ดังต่อไปนี้ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือนําขึ้นเรือประมง (3) โลมาและวาฬทุกชนิดในอันดับ (Order) Cetacea (4) ......โดยการกระทำผิดดังกล่าว มีโทษ มาตรา 145 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 66 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสามล้านบาทหรือปรับจํานวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนําขึ้นเรือประมง แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า โลมา ถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ต้องอนุรักษ์ในบัญชีของ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ( Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือเรียกโดยย่อว่า ไซเตส (CITES) และเป็นที่รู้จักในชื่อ อนุสัญญากรุงวอชิงตัน(Washington Convention) เป็นสนธิสัญญาซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองและให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาดังกล่าวไว้แล้ว อันเป็นพันธกรณีที่ไทยต้องปฎิบัติตาม ในทุกๆ ปีมีโลมาถูกไล่ล่า ถูกฆ่า ถูกกักขังเป็นจำนวนหลายพันตัว ในหลายๆประเทศ ซึ่งก็ได้รับการต่อต้านจากนักอนุรักษ์โลมาทั่วโลก หากเป็นกรณี โลมาติดอวน เรือประมงที่หาปลาในทะเล ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง กรณีเรือล้อมจับปลาอื่น แล้วได้ปลาโลมาติดอวนมา ด้วยเมื่อมีการกู้อวนกลับมาข้างเรือเพื่อนำปลาขึ้น แล้วเห็นว่ามีปลาโลมาติดมา วิธีการช่วยเหลือ ประการแรก การช่วยเหลือทำได้โดยให้คนงานลงไปตัดอวนแหวกช่องให้ปลาโลมาออกไป ประการที่สอง ให้คนงานลงไปกดทุ่นลอยให้จมลงให้ปลาโลมาลอดออกไป ส่วนการที่จะนำโลมาขึ้นเรือได้นั้น จะทำได้กรณีเดียวคือเพื่อการช่วยชีวิตปลาโลมาเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นความผิดตาม พรก.ประมง 2558 มาตรา 66 และมาตรา 145 พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ กล่าวต่อว่า “หากพบหลักฐานการกระทำผิดชัดเจนจะทำการออกหมายเรียกโดยจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่กระทำความผิดเพื่อเป็นตัวอย่าง และรู้สึกสะเทือนใจที่มีการกระทำกับปลาโลมา ตามคลิปซึ่งปกติ ปลาโลมาเป็นปลาที่น่ารักและเป็นมิตรกับคน