ยังขาดโอกาสได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก พร้อมแนะเทคนิคสำคัญให้ลูกได้คุณค่าจากนมแม่ครบถ้วน ดูดเร็ว- ดูดบ่อย-ดูดถูกวิธี ยูนิเซฟเผยสาเหตุมีทั้งค่านิยม ความเข้าใจผิด ความกังวล รวมทั้งสถานที่ไม่รองรับเมื่อต้องกลับไปทำงาน พร้อมเรียกร้องสถานประกอบการสนับสนุนการให้นมแม่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังการแถลงข่าวรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนวันแม่แห่งชาติและสัปดาห์นมแม่โลก ภายใต้แนวคิด “Empower Parents Enable Breastfeeding เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน” ว่า จากข้อมูลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย Multi-indicator cluster survey โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 59 พบมีทารกไทยเพียงร้อยละ 40 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และเพียงร้อยละ 23ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และมีเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี โดยภายในปี 68 ก.สาธารณสุขตั้งเป้าให้อัตราการกินนมแม่อย่างเดียวของทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ 50 สอดคล้องกับเป้าหมายโลกที่ทุกประเทศตั้งไว้ร่วมกันเมื่อปี 2555 ทั้งนี้ นมแม่เป็นอาหารที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กเพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีคุณค่าเหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็ก และมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น ซึ่งควรให้ลูกดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน เทคนิคสำคัญ คือ 3 ดูด ได้แก่ 1) ดูดเร็ว ให้ลูกดูดนมทันทีหลังคลอด ภายใน 1 ชั่วโมง 2) ดูดบ่อย ให้ลูกดูดนมอย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมง 3) ดูดถูกวิธี ให้ลูกดูดนมจากอกแม่อย่างถูกวิธี และในแต่ละครั้งควรให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมใหม่ของคุณแม่ให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกน้อยอีกด้วย นายฮิว เดลานี รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟแนะนำให้เด็ก ทุกคนกินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดและมีภูมิคุ้มกัน แต่ปัจจุบัน มีเด็กในประเทศไทยเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนครบ 6 เดือน ซึ่งอาจมีผลมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ค่านิยมที่มักให้อาหารกึ่งเหลวกับเด็กทารกก่อน 6 เดือน หรือพ่อแม่บางคนยังเข้าใจผิดว่าลูกหิวน้ำ หรือต้องการล้างปากเด็ก บางท่านอาจกังวลเรื่องคุณภาพนมของตนหรือคิดว่านมไม่พอ นอกจากนี้ คุณแม่จำนวนมากยังขาดแรงสนับสนุนจากที่ทำงานเรื่องให้สิทธิการลา หรือเมื่อกลับไปทำงานแล้ว ที่ทำงานก็ไม่มีพื้นที่เหมาะสมให้แม่บีบเก็บน้ำนมได้ “ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้สถานประกอบการช่วยกันสนับสนุน “นมแม่” โดยจัดให้มีนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว (Family Friendly policies) เช่น ส่งเสริมนโยบายการลาคลอดของพ่อและแม่ สนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อช่วยลดภาระครอบครัวที่มีลูกเล็ก สร้างมุมหรือห้องนมแม่ ตลอดจนนโยบายที่ให้แม่สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ระหว่างเวลาทำงาน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พนักงานที่มีลูกสามารถดูแลครอบครัวได้ดีขึ้นและสร้างสมดุลในชีวิตในช่วงที่ลูกยังเล็ก เพราะหากแม่ขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัวและที่ทำงานแล้ว แม่ก็จะขาดพลังและกำลังใจและหยุดให้นมลูกในที่สุด” นายเดลานี กล่าว