“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาในอนาคตว่าปัจจัยสำคัญที่สุดของการดำรงชีวิตของสรรพสัตว์คือแหล่งน้ำ ป่าไม้ ดินจะมีปัญหาถ้าไม่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ ทรงคาดการณ์ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ จึงได้มีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำและจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) ทำให้หลายพื้นที่พ้นจากสภาพแห้งแล้งและกลับพลิกฟื้นผืนดินกลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ในที่สุด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2532 พระองค์พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งราษฎรประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำอยู่โดยทั่วไป ขณะที่อ่างเก็บน้ำจำนวนมากที่สร้างไว้ในพื้นที่มีขนาดเล็ก สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุพอสมควรก็มีเพียงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดและอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขามเท่านั้น จึงเห็นสมควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุมากๆ ตามท้องที่ต่างๆ ที่เหมาะสม อาทิ ในเขตตำบลหนองพลับ ซึ่งมีโครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ขาดแคลนน้ำมากในช่วงฤดูแล้ง  ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2535 พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้กรมชลประทานจัดหาน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพดีกว่ามาช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดต่อไป และให้พิจารณาความเหมาะสมในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดผ่านสันทำนบของอ่างพักน้ำเขากระปุกลงอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ที่มีสภาพขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย และบริเวณใกล้เคียงได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยระบบอ่างพวงนั้นเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการน้ำในลักษณะที่มีการนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมาก สู่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย นับเป็นระบบการจัดการน้ำด้วยการหน่วงน้ำหรือการบริหารน้ำที่กระจายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่มาก จากอ่างหนึ่งไปยังอีกอ่างหนึ่งที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำอย่างเพียงพอแบบทั่วถึงและเท่าเทียมกัน “ในปัจจุบันก็มีหลายๆ พื้นที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระบบอ่างพวงไปปฏิบัติใช้ที่สำคัญการบริหารจัดการน้ำของอ่างพวงตามแนวพระราชดำรินี้ จะก่อเกิดการเชื่อมโยงกันในการบริหารจัดการน้ำของประชาชนเพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และเกิดเครือข่ายระหว่างประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกัน เนื่องจากจะมีการเชื่อมโยงประสานงานในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแบ่งปันน้ำกันอย่างต่อเนื่อง แม้พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำแต่ละอ่างจะห่างไกลกันก็ตาม และช่วยให้การใช้ประโยชน์จากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่แต่ละช่วงเวลาได้อย่างทั่วถึงและกว้างไกลยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการเกษตร” นายดนุชา สินธวานนท์ กล่าว