กรมหมอดิน จับมือมหาวิทยาลัย New South Wales อบรมการทำแผนที่ดินเชิงเลข หวังแก้ปัญหาดินเค็มได้แม่นยำ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.62 นายก่อเกียรติ จันทร์พึ่งสุข ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้ร่วมมือแบบบูรณาการในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติ “การจัดทำแผนที่คุณสมบัติของดินเชิงเลข โดยใช้เครื่องมือ EM (electromagnetic-induction conductivity) ชนิดต่างๆ ในพื้นที่ดินเค็ม” กับมหาวิทยาลัย New South Wales (UNSW) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและมีเครื่องมือที่ทันสมัยในการจัดทำแผนที่ดินที่เน้นความแม่นยำและความละเอียดสูง ทำให้สามารถลดต้นทุนในการสำรวจและวิเคราะห์ดินได้ ปัจจุบันการจัดทำแผนที่ดินเชิงเลข ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นข้อมูลเพื่อตัดสินใจ กำหนดมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรดิน การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และการใช้ทรัพยากรดินอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายต่อการเก็บข้อมูลค่าตัวแปร (ancillary data) ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย มีความแม่นยำสูง (high-resolution) สามารถบอกข้อมูลดินในชั้นดินที่ลึกลงไปได้ และสามารถปรับปรุงแผนที่ได้เมื่อมีข้อมูลดินเพิ่มเติมในภายหลัง ตลอดจนสามารถบอกระดับความผิดพลาดหรือระดับความถูกต้องของข้อมูลได้ การอบรมดังกล่าวมี Dr. John Triantafilis School of Biological, Earth and Environmental Sciences, UNSW วิทยากรร่วมกับ นางปราณี สีหบัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางระบบการพัฒนาที่ดิน สพข.5 ดร.ชาลี นาวานุเคราะห์ ที่ปรึกษากรมพัฒนาที่ดิน และนายธิเบต คงนาวัง นักสำรวจดินชำนาญการพิเศษ กำลังศึกษาปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัย UNSW แบ่งเป็นการอบรมหัวข้อ ความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานเบื้องต้นของดิน คุณสมบัติของอนุภาคดิน Sand (ดินทราย), Silt (ดินทรายแป้ง), Clay(ดินเหนียว) คอลลอยด์ดิน (แร่ปฐมภูมิ แร่ทุติยภูมิ) แร่ดินเหนียว ค่าความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก(CEC) การแลกเปลี่ยนประจุ(Exchangeable Cations) รวมทั้งให้ทำแบบฝึกหัด Practical : Rocks and Minerals การทำแบบฝึกหัด Practical : CEC, Exchangeable Cations and Soil Stability ทำแบบฝึกหัด (Interpreting EM Signal and Soil Data) ศึกษาการทำงานและคุณสมบัติของเครื่องมือ EM 38 และ Dualem 421-s ตลอดจนลงพื้นที่เก็บข้อมูลตัวอย่างในพื้นที่ดินเค็ม เพื่อนำไปแปลผลในโปรแกรม Vesper, EM4soil และ JMP โดยมีนักวิชาการที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการดินในพื้นที่ดินเค็ม จำนวน 20 คน เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งปัญหาทรัพยากรดินเป็นทรายและดินเค็ม ถือเป็นลักษณะเฉพาะของภูมิภาคนี้ การพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรดินปัญหาดังกล่าวในระยะที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้พิจารณาจากข้อมูลแผนที่ทรัพยากรดินมาตราส่วน 1 : 25,000 และ มาตราส่วน 1: 4,000 ที่ได้จากการสำรวจด้วยวิธีดั้งเดิม (conventional survey) ที่แปรผลร่วมกันระหว่างข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศกับข้อมูลค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ายังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ทั้งในเรื่องของความละเอียดและความถูกต้องของข้อมูลดิน ทั้งนี้เนื่องจากความแปรปรวนของทรัพยากรดินตามธรรมชาติ ดังนั้นการแก้ปัญหาทรัพยากรดินให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยข้อมูลแผนที่ดินที่มีความละเอียดสูง อย่างไรก็ตาม หากใช้การสำรวจโดยวิธีดั้งเดิม อาจต้องใช้เวลานานในการสำรวจ เนื่องจากต้องเก็บตัวอย่างดินจำนวนมากเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ ทั้งยังเป็นเหตุให้สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากในการวิเคราะห์ดินตามไปด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการและประหยัดค่าใช้จ่าย เทคนิคการจัดทำแผนที่ดินความละเอียดสูงเชิงเลข (digital soil mapping) จึงเป็นวิธีที่เหมาะสม ดังนั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่นักปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการดินในพื้นที่ดินเค็มของกรมพัฒนาที่ดิน จะได้ศึกษาการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและคุ้มค่า ในการจัดทำแผนที่คุณสมบัติของดินเชิงเลข ที่สำคัญคือนำความรู้ที่ได้รับไปจัดทำแผนที่คุณสมบัติของดินเชิงเลขในพื้นที่ดินเค็ม เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและฟื้นฟูดินเค็มในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป