เมื่อวัน 4 สิงหาคม 2562 ที่พุทธสถาน จ.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ จัดกิจกรรม "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวปฐากถาปิดท้ายในหัวข้อ "การแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ของสังคมการเมืองไทย" โดยระบุว่า สำหรับคนที่มาอยู่ร่วมกันที่นี่ ขอเริ่มต้นกับคำถามที่ว่า คุณพอใจกับความขัดแย้ง 13 ปีหรือเปล่า พอใจกับเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญ 60 หรือไม่ ซึ่งถ้าคำตอบคือไม่ นั่นคือเราเห็นตรงกัน เห็นเหมือนกันกับกับประชาชนอีกหลายล้านคนที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ นี่คือเหตุผลที่เรามารวมกัน เพื่อแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ของสังคมการเมืองไทย โดยเริ่มจากคำถามง่ายๆ ว่า สังคมแบบไหนที่เราอยากเห็นร่วมกัน วันนี้ เราเปิดตัวรณรงค์และหวังว่าจะกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค และหวังว่าจะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน รัฐธรรมนูญ หรือข้อตกลงใหม่ที่เราคิดว่าจะสร้างให้อย่างยั่งยืน เราคิดว่า 1.ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร เพราะไทยมีประวัติศาสตร์ มีมรดกสังคม วิถีชีวิตต่างจากประเทศอื่นๆ จะเอาจากประเทศอื่นมาใช้ทั้งดุ้นคงทำไม่ได้ 2.ต้องเกิดขึ้นจากความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม 3. ประชาชนทุกชนชั้น ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างข้อตกลงใหม่นี้ร่วมกัน และ 4. ตั้งอยู่บนบนเรียนและประสบการณ์ที่เป็นจริงของสังคมไทย ธนาธร กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราต้องแสวงหาฉันทามติร่วมกัน เราเคยทำและทำสำเร็จมาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กว่าจะผ่านได้ นักการเมือง ข้าราชการ กลไกรัฐเก่าๆ ไม่อยากผ่าน ไม่อยากปฏิรูป องค์กรตุลาการก็คัดค้าน แต่ท้ายที่สุดรัฐสภาก็ต้องยกมือผ่านเพราะฝ่ากระแสความต้องการของประชาชนไม่ไหว มติประชาชนมีพลังเกินกว่าที่เขาจะทัดทานได้ นั่นคือสิ่งที่เคยทำสำเร็จ และครั้งนี้ก็ขอให้เราเชื่อว่าความเป็นไปได้มีอยู่ เราจะทำงานร่วมกัน เราจะผลักดันความเป็นไปได้นั้นให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปที่ฉันทามติ ตอนรัฐธรรมนูญปี 40 เกิดขึ้น อยู่ภายใต้ประสบการณ์และความต้องการร่วมกันของสังคม 5 ชุด คือ 1.พอแล้วกับประชาธิปไตยครึ่งใหม่ สังคมไทยต้องการประชาธิปไตยเต็มใบ วุฒิสภา และ สภาผู้แทนราษฎรต้องมาจากการเลือกตั้ง 2.ต้องการการเมืองที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ 3.สังคมไทยต้องการให้กองทัพกลับเข้าสู่กรมกอง ต้องไม่มีรัฐประหารอีก และต้องมีการปฏิรูปกองทัพให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง 4.สังคมไทยต้องการการเมืองที่มีประสิทธิภาพ การปฏิรูปการเมืองในยุคโลกกาภิวัฒน์ การเมืองที่พาประเทศไทยต่อกรกับคลื่นโลกาภิวัฒน์ได้ และ 5. ภาคประชาสังคมเติบโตได้ สังคมไทยต้องการการประกันสิทธิเสรีภาพ "ฉันทามติ 5 ข้อนี้ ทำให้เกิดการสร้างกระแสรัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว ซึ่งถ้าจะสรุปหลักใหญ่ใจความ 3 ข้อ คือ "ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน" เกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ที่รวมอำนาจและความชอบธรรมในการใช้อำนาจมาอยู่ที่รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งครั้งแรก เราได้เห็นการแข่งขันแย่งชิงเสียงประชาชนผ่านนโยบาย และหลังเลือกตั้งเราก็ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และสามารถส่งมอบนโยบายที่เคยใช้หาเสียงได้จริง แต่ทว่า ก็ถูกหลายฝ่ายมองว่าไม่สนใจเสียงข้างน้อย แทรกแซงองค์กรอิสระ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากการถูกมองอย่างนั้นก็นำมาสู่รัฐประหาร 2549 ที่เกิดการดึงอำนาจที่รวมอยู่รัฐบาลประชาชนไปสู่อำนาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และจากปี 2549-2562 รวมระยะเวลา 13 ปี เป็นทศวรรษแห่งความสูญเสีย เกิดบาดแผลร้าวลึก ยากเกินเยียวยา 13 ปีนี้ มีรัฐประหาร 2 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มีรัฐบาล 8 ชุด ประชาชนแบ่งฝักฝ่าย ขั้วทัศนคติขัดแย้งกระจายไปในทุกสังคม ทั้งในโรงเรียน ในที่ทำงาน ในตลาด ในครอบครัว และที่สำคัญมีคนตายมากกว่า 130 ชีวิต คนบาดเจ็บนับพันจากคนทุกสีเสื้อ รวมถึงที่ไม่ได้อยู่สีเสื้อไหน" ธนาธรกล่าว ธนาธร กล่าวว่า 13 ปีที่ผ่านมา ประชาชนหลายฝ่ายตั้งคำถาม ถึงมาตรฐาการทำงานองค์กรตุลากรว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน ใช้ได้หรือไม่ ประชาชนสงสัย ตั้งคำถามด้านเศรษฐกิจว่าเรากำลังเติบโตอย่างถดถอยเมื่อเที่ยบกับประเทศเพื่อนบ้าน งบประมาณไม่ได้ถูกเอาไปลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เป็นการลงทุนเพื่อแข่งขันสร้างคะแนนนิยม ประชาชนตั้งคำถามการศึกษาตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย และนั่นนำมาสู่สิ่งที่เราได้รับมาในปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่เราเชื่อว่าคือระเบิดเวลา คือกลไกที่จะทำให้ความขัดแย้งตึงเครียดขึ้นและรอระเบิดออกมา ดังนั้น เราต้องหยุดก่อนที่จะระเบิดขึ้น รัฐธรรมนูญ 2560 คือ การทำให้รัฐประหารซึ่งควรเป็นองค์กรที่มีระยะชั่วคราวกลายเป็นองค์กรถาวร คือการเอารัฐประหารใส่ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ถูกกฎหมาย และรัฐประหารอยู่กับเราในรัฐธรรมนูญ ทำให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อยู่เหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อยู่เหนือพี่น้องประชาชน ซึ่งที่ได้ประโยชน์จากภาวะแบบนี้ ไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแน่นอน 13 ปีที่ผ่านมา คนที่ต้องจ่ายต้นทุนความขัดแย้งคือประชาชน โดยจ่ายในนามความเหลื่อมล้ำ ความล้าหลังของประเทศที่ไม่ได้พัฒนา "เราไม่อาจปล่อยประเทศอย่างนี้ได้อีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกฝั่งฝ่ายแม้ความคิดเห็นต่างทางการเมือง แต่อย่างน้อยที่สุดน่ามีความเห็นร่วมกันได้ในหลายเรื่อง เราเชื่อว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ในสังคมไทย ผมไม่ได้เสนอให้ลืมความขัดแย้ง ไม่ได้เสนอให้เราคิดเหมือนกัน แต่เราต้องหาระบอบการเมืองที่ให้คนที่คิดต่างอยู่กันได้อย่างสันติ อยู่ได้โดยไม่ต้องหลงลืมความขัดแย้ง ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เห็นว่า 4 ฉันทามติใหม่ของระบอบประชาธิปไตย มีกรอบใหญ่ๆ คือ 1.ประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2.พระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระราชฐานะอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง 3.มีระบบรัฐสภาที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ และ 4.มีนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครอง มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งการแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่นี้ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดทางเดียวที่เหลือก่อนที่ระเบิดเวลาลูกนั้นจะระเบิด เป็นทางรอดทางเดียวที่เหลืออยู่ของสังคมไทยในเวลานี้" ธนาธรกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายธนาธร พร้อมด้วย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กว่า 40 คน ร่วมเดินรณรงค์แจกโบรชัวร์ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน”โดย เริ่มต้นเดินจากบริเวณประตูท่าแพ ผ่านถนนคนเดิน และสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์สา