ยังคงความเป็น “ภูมิภาคเนื้อหอม” สำหรับ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อุษาคเนย์” เรา ซึ่งได้รับการหมายปอง จับตา สถาปนาความสัมพันธ์รูปแบบใด รูปแปบหนึ่ง จากเหล่าบรรดาชาติมหาอำนาจซีกฟากต่างๆ หลายยุคหลายสมัยตลอดช่วงที่ผ่านมา อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีรายงานว่า “จีนแผ่นดินใหญ่” ก็ได้ตบเท้าเข้ามาช่วยเหลือทางการทหารให้แก่ “กัมพูชา” ซึ่งก็สมประโยชน์ไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยกัมพูชา ก็จะได้กองทัพที่พัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น ขณะที่ “จีนแผ่นดินใหญ่” ก็ได้อิทธิพลด้านต่างๆ ในกัมพูชา ที่ทางการปักกิ่งตั้งใจไว้เป็นการตอบแทน ล่าสุด ก็เป็นรายของ “อินโดนีเซีย” แดน “อิเหนา” ที่ปรากฏสถานการณ์ของฉากการกระชับความสัมพันธ์ครั้งใหญ่กับ “สหรัฐอเมริกา” พญาอินทรี ซึ่งเป็นชาติพี่เบิ้มใหญ่ ผู้นำมหาอำนาจของอีกฟาก คู่แข่งสำคัญของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ โดยการ “เล่นใหญ่” ในฉากกระชับความสัมพันธ์ ก็มีขึ้นในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือโจโกวี ผู้นำอินโดนีเซีย ณ ชั่วโมงนี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย (ซ้าย) พบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นมื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซียแล้ว ต้องถือว่า มีมาอย่างยาวนาน นับได้กว่า 218 ปีแล้ว ตั้งแต่สหรัฐฯ เข้ามาสถานกงสุลในนครบัตตาเวีย (ปัจจุบันคือ กรุงจาการ์ตา) ของอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. 2344 และเมื่อกล่าวถึงในช่วงประวัติศาสตร์ยุคร่วมสมัย คือ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ก็ต้องบอกว่า ความสัมพันธ์ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นไปอีก จากการที่สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการปลดแอกอินโดนีเซีย ให้ได้รับเอกราชจากดัตช์ หรือเนเธอร์แลนด์ เป็น “สาธารณรัฐอินโดนีเซีย” เฉกเช่นในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2492 หรือเมื่อ 70 ปีก่อน ถึงขนาดที่สหรัฐฯ ส่ง “ยูเอสเอส เรนวิลล์” เรือพิฆาตชั้นแฮศเคลล์ มาเป็น “สถานที่เจรจา” ในการประชุมระดับ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นเอสซี” เพื่อการสถาปนา “สาธารณรัฐอินโดนีเซีย” ณ บริเวณน่านน้ำแดนชวากันเลยทีเดียว ด้วยความสำคัญของอินโดนีเซีย ที่ทางการสหรัฐฯ มีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดที่มิอาจละเลย มองข้ามไปได้ การเจรจาระหว่างตัวแทนของเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซีย บนเรือรบ “ยูเอสเอส เรนวิลล์” เมื่อปี พ.ศ. 2492 ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทั้งสองประเทศได้ดำเนินการเพื่อกระชับความสัมพันธ์กันอยู่เนืองๆ ดังปรากฏในรูปแบบของการเดินทางเยือนของผู้นำทั้งสองประเทศ ระหว่งกันและกัน เป็นอาทิง สำหรับ การเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ที่กำลังมีขึ้น ปรากฏว่า ทั้งสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย สองชาติที่ได้ชื่อว่า เป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 คือ สหรัฐฯ และอันดับ 3 คือ อินโดนีเซีย ก็ได้แสวงหาแนวทางการเพิ่มความร่วมมือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหารให้มากขึ้น โดยในด้านเศรษฐกิจนั้น ก็จะเป็นความร่วมมือในอันที่จะขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจระหว่างกันในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งจะครอบคลุมด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันด้วย ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ประเมินจากบรรดานักวิเคราะห์ของทางฟากฝั่งสหรัฐฯ ที่ต่างระบุว่า อินโดนีเซีย แดนอิเหนา จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย จะก้าวขึ้นมาติดอันดับท็อปเทน หรือ 1 ใน 10 เมื่อจบทศวรรษหน้า และเมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 21 นี้ ขนาดเศรษฐกิจของแดนอิเหนาก็อาจทะยานขึ้นมาติดท็อปไฟว์ หรือ 1 ใน 5 ของโลกก็เป็นได้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เรียกร้องให้สหรัฐฯ ลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิตอลในอินโดนีเซียมากขึ้น ระหว่างการแสดงปาฐกถาที่สุราบายา ส่วนทางด้านอินโดนีเซีย ก็ต้องการหาทางถ่วงดุลย์จีนแผ่นดินใหญ่ ที่สถานการณ์ในแดนอิเหนา ณ ชั่วโมงนี้ ต้องถือว่า เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ รวมถึงยังเป็นชาติเจ้าหนี้รายใหญ่ด้วย จากการที่อินโดนีเซีย กู้เงินจากจีนเพื่อลุยโครงการก่อสร้างอภิมหาโปรเจ็กต์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูง จนรัฐบาลของประธานาธิบดีโจโกวี ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชี ขณะที่ ทางด้านความร่วมมือทางการทหารนั้น ทางการสหรัฐฯ ก็หวังใช้อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในความร่วมมือทางการทหารข้างต้น เพื่อแข่งขันบารมีกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มพูนอิทธิพล ขณะเดียวกัน ทางด้านอินโดนีเซีย ก็หวังใช้พญาอินทรีสหรัฐฯ มากางปีกป้อง คือ ช่วยเหือทางการทหาร เพื่อป้องกันอธิปไตย จากการถูกคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยมีรายงานว่า พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ได้รุกคืบในการขยายพื้นที่ดินแดนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองจากหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล มายังหมู่เกาะนาทูนา ที่อินโดนีเซีย อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองอยู่ด้วย ซึ่งหมู่เกาะแห่งนี้มีความสำคัญในการประมงเชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้าทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ส่งกองเรือประมงมาทดสอบถึงน่านน้ำหมู่เกาะนาทูนา จนทางการอินโดนีเซีย ส่งเสียงตำหนิประณามกันมาแล้ว ความร่วมมือทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซีย โดยฉากความสัมพันธ์ที่ทั้งสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย จะกระชับกันอีกครั้งใหญ่นั้น บรรดานักวิเคราะห์ก็กำลังจะจับตาจ้องมองการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโจโกวี ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการเดินทางเยือนครั้งสำคัญ เพราะจะไปเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ของการสถาปนาสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองในยุคใหม่ ที่ทำให้อินโดนีเซีย ดำรงสถานภาพเป็นประเทศเอกราช ณ ปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากการตอกย้ำในความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างประเทศทั้งสอง