"ทีเส็บ"เผยผลการศึกษาความเป็นไปได้และผลจาก Industry Hearing ระบุศักยภาพประเทศไทยพร้อมจัดงาน"แอร์โชว์"งานแสดงนวัตกรรมอากาศยานระดับโลก สอดคล้องนโยบาย 4.0 โดยการดึงงานใหญ่ระดับโลกมาจัดขึ้นในประเทศไทย สนับสนุนสร้างโอกาสธุรกิจใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการบิน นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ(ทีเส็บ) สายงานธุรกิจ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดงานแอร์โชว์นานาชาติประเทศไทยเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยครอบคุลมเนื้อหาในด้านต่างๆ คือ ภาพรวมการจัดงานแอร์โชว์ทั่วโลก ศักยภาพของตลาดในระดับภูมิภาค โครงการอีอีซีของประเทศไทย และโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งผลการศึกษานี้ยังได้กลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานแอร์โชว์ รวมทั้งการคาดการณ์ผลทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในระดับประเทศ ทีเส็บยังได้ดำเนินการจัดทำ Industry Hearing กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกลั่นกรองและประมวลอย่างเป็นระบบถึงศักยภาพและจุดแข็งของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานแอร์โชว์นานาชาติ รวมถึงการคาดการณ์ผลทางเศรษฐกิจอันจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจัดงานนี้ นอกเหนือจากการศึกษาความเป็นไปได้และผลจาก Industry Hearing ทีเส็บยังได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดงานแอร์โชว์ในหลายๆประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา อาทิ งาน Farnborough International Airshow ประจำปี 2561 ณ สหราชอาณาจักร และในปี 2562 นี้ ได้เข้าร่วมงาน Bahrain International Airshow ณ ประเทศบาห์เรน และงาน Paris Air Show ณ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อศึกษาแนวทางการจัดงานขึ้นที่ประเทศไทย รองผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อว่า การวางแผนและเตรียมการจัดงานแอร์โชว์นานาชาติประจำประเทศไทยนี้ ตอกย้ำบทบาทของทีเส็บในฐานะองค์กรที่เป็นผู้ร่วมแรง ผู้ร่วมสร้าง ผู้ร่วมมือ ผู้ร่วมคิด เพื่อความสำเร็จของอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้แบรนด์ทางการตลาด ‘Thailand Redefine Your Business Events’ ซึ่งมุ่งดึงงานด้านไมซ์ระดับโลกมาจัดขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยเฉพาะใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ขานรับนโยบาย 4.0 “อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมหลักภายใต้เป้าหมายของรัฐบาลไทย ในการยกระดับให้ประเทศไทยเป็น Aerotropolis คือทั้งเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค และศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานและโลจิสติกส์แห่งใหม่ในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาในเขตอีอีซี” สำหรับในปี 2561 ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีเที่ยวบินเข้า-ออกรวมกันทั้งสิ้น 634,011 เที่ยวบิน เติบโตร้อยละ 5.79 เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีจำนวนผู้โดยสาร 103,378,371 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.39 ซึ่งทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) คาดการณ์ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 อันดับประเทศที่มีการจราจรทางอากาศสูงที่สุดในโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า นางนิชาภา กล่าวว่า รัฐบาลจึงกำหนดให้มีการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติหลักแห่งที่สามของประเทศไทย และสอดคล้องกับโครงการอีอีซี ที่มีการเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายการเดินทาง รวมถึง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ คาดเปิดใช้บริการได้ในปี 2566 และเสริมแกร่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค ทั้งในด้านศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก และสามารถรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องการบิน