กรรมการฝ่ายหลักสูตรของสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA)นัดประชุมระดมสมองที่กรุงเทพวันนี้ เพื่อพัฒนาและกำหนดมาตรฐานเนื้อหาหลักสูตรให้เหมือนกันทั่วเอเชียแปซิฟิก พร้อมปรับเนื้อหาให้ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป เช้านี้ นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวเปิดประชุมกรรมการฝ่ายหลักสูตร หรือที่เรียกเป็นทางการว่า International Certifications and Standard Board (ICSB) ที่โรงแรมแมริออท สุขุมวิท พาร์ค กรุงเทพมหานคร โดยนายบรรยง ให้ข้อคิดว่า การวางแผนการเงินในเอเชียยังเป็นเรื่องใหม่มาก ถึงแม้จะมีมาร่วม 40 ปีแล้ว แต่ยังมีเนื้อหาที่ต้องถกเถียงและปรับปรุงอีกเป็นจำนวนมาก สิ่งที่คุยกันในวันนี้จะเป็นรากฐานของการวางแผนการเงินในอีก 100 ปีข้างหน้า เพราะพวกเราคือคนที่อยู่ในภาคสนามตัวจริง จึงรู้ว่าสิ่งใดใช้ได้ ปฏิบัติได้จริง และเรื่องใดควรปรับปรุง จึงขอฝากความหวังไว้กับทุกคนด้วย จากนั้น มร.SK Samy ประธานฝ่ายหลักสูตร (ชาวมาเลเซีย) ได้ดำเนินการประชุม โดยในที่ประชุมประกอบด้วยกรรมการฝ่ายหลักสูตรคือมร.Allen Lim รองประธาน จากสิงคโปร์​ มร. Paul Chan จากสิงคโปร์​ คุณมงคล ลุสัมฤทธิ์ จากประเทศไทย โดยมีคุณทวีเดช งามขจรกุล รองประธาน APFinSA และคุณชวลิต ลีลาภรณ์ พี่เลี้ยงหลักสูตรในประเทศไทยสังเกตการณ์ วาระในที่ประชุมประกอบด้วย การกำหนดมาตรฐานของแนวคิดที่ใช้ในการวางแผนการเงินว่า ควรสอนให้เหมือนกันทุกประเทศ เพราะทุกวันนี้ขึ้นกับว่าวิทยากรในแต่ละประเทศจะถนัดแนวคิดไหน แบบไหน ก็สอนตามความเคยชินของแบบนั้น ความจริงมันไม่ผิด เพราะมันสามารถคำนวณได้หลายวิธี แต่เราควรมีมาตรฐานหรือวิธีการที่เหมือนกัน เวลานักศึกษาแต่ละรุ่นคุยกันจะได้ไม่สับสน เช่นการคำนวณเงินกองทุนเกษียณอายุบางคนใช้ รายรับเป็นตัวตั้ง(Replacement method) ขณะที่บางคนใช้รายจ่ายเป็นตัวตั้ง(Expense method)หรือวิทยากรบางคนถือว่ามูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นสินทรัพย์เงินสดที่มีสภาพคล่อง แต่ขณะที่วิทยากรบางคนถือว่าเป็นสินทรัพย์ลงทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรจะกำหนดมาตรฐานให้เหมือนกันทุกประเทศ และจะต้องดูด้วยว่าในมาตรฐานสากลเดี๋ยวนี้ นิยมตีความหรือนิยามว่าเป็นแบบไหน อย่างไร​ ถัดมาก็เป็นการกำหนดหัวข้อในหลักสูตรสำหรับกลุ่มวิชา (Module)ต่างๆว่าควรมีหัวข้อใดบ้าง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและการใช้ได้จริงในภาคสนาม โดยมร.เอสเคกล่าวว่าโดยทั่วไปเนื้อหาของหลักสูตรควรมีการปรับปรุงอยู่เป็นระยะๆ แต่หลักสูตรของเราใช้มาร่วม 10 ปีแล้วโดยไม่มีการแก้ไข เพราะฉะนั้นควรมีการทบทวนเนื้อหาให้ทันสมัยและใช้ได้จริงเพราะหลักสูตรของเราเน้นภาคปฏิบัติ จึงต้องฟังเสียงของบัณฑิตที่จบไปแล้วด้วยว่า ใช้ได้จริงไหม จากนั้นจะเป็นการคุยถึงทิศทางและการขยายหลักสูตรไปในประเทศต่างๆเช่น เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น​ อินโดนีเซียและอินเดีย พร้อมทั้งมีการวางแผนที่จะผลิตตำราที่เขียนด้วยภาษาท้องถิ่น ซึ่งต้องหารือกันต่อไปว่าจะใช้วิธีแปล หรือให้วิทยากรในแต่ละประเทศเขียนขึ้นมา “ในภาวะที่ประชาชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องการวางแผนการเงิน พร้อมทั้งมีเครื่องมือเทคโนโลยีมาช่วยในการคำนวณ ถ้าตัวแทนประกันชีวิตไม่พัฒนาให้เก่งกว่าลูกค้า วันหนึ่งลูกค้าจะตั้งคำถามว่า ทำไมเขาต้องซื้อผ่านมาเรา ทำไมไม่ซื้อผ่านออนไลน์ ดังนั้น ตัวแทนต้องพัฒนาตัวเองให้เข้ายุคเข้าสมัย ไม่ใช่นั้น ท่านจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังแน่นอน” นายบรรยง กล่างทิ้งท้าย